In Focus: เจาะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 67 จับตายูโรโซน-สหรัฐ-จีน

ปี 2567 เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกจะถูกจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีหลายปัจจัยลบรุมเร้าทั้งสงครามที่ยืดเยื้อของยูเครนและอิสราเอล การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ประเด็นความขัดแย้งทางการค้า และปัญหาด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน แล้วเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเป็นอย่างไร In Focus ขอพาผู้อ่านประเดิมปีมังกรด้วยการสำรวจแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคต่าง ๆ

 

เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่เอเชียแปซิฟิกยังเป็นหัวหอกในการขยายตัว

ยูโรมอนิเตอร์ อินเทอร์เนชันแนล (EUROMONITOR INTERNATIONAL) ได้เผยแพร่คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2567 โดยคาดว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 2.7% เนื่องจากการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดจะทำให้ภาคธุรกิจบริการและตลาดแรงงานในประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้วชะลอตัวลง ท่ามกลางการชะลอตัวของการผลิตและการค้าระดับโลก

ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะฟื้นตัวได้ในระดับปานกลาง ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงอย่างมาก เนื่องจากผลกระทบจากการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดจะทำให้ตลาดแรงงานอ่อนแอและการใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอตัวลง ส่วนยักษ์ใหญ่อย่างจีนจะยังคงต้องรับมือกับสถานการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ย่ำแย่ รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจที่อ่อนแอ ซึ่งจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากระดับ 5% ในปี 2566 สู่ระดับ 4.7% ในปีนี้

ทั้งนี้ เอเชียแปซิฟิกจะยังคงเป็นภูมิภาคที่เป็นตัวช่วยผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยได้แรงหนุนจากประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นอินเดีย

อย่างไรก็ดี หากดูในเรื่องของเงินเฟ้อทั่วโลกแล้วคาดว่า จะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 4.9% ในปี 2567 โดยนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง และดีมานด์ที่อ่อนแอลง จะช่วยลดแรงกดดันด้านราคา ส่วนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ด้านอาหารที่ลดลง โดยเฉพาะราคาพลังงาน น่าจะมีส่วนช่วยควบคุมแรงกดด้านเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีแนวโน้มว่า จะอยู่เหนือระดับ 2% เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงต่อไปอีก

สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดและความผันผวนด้านการค้าจะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่มีผลต่อเงินเฟ้อทั่วโลก เนื่องจากความผันผวนทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่ตึงเครียดจะยังคงเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ขยายวง และอาจจะทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจจะกดดันเงินเฟ้อมากยิ่งขึ้น โดยคำสั่งห้ามส่งออกสินค้าหรือสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภท รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะมีการจัดเก็บภาษีการค้าที่เข้มงวด ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น และเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อให้สูงขึ้นตามไปด้วย

ส่วนตลาดแรงงานและการขยายตัวของค่าจ้างในปี 2567 นั้นคาดว่าจะอ่อนแอลง เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การใช้จ่ายของผู้บริโภคในภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยวและความบันเทิงนั้นคาดว่าจะปรับตัวลงเช่นกัน และจะเป็นปัจจัยที่จำกัดการขยายตัวของราคาในฝั่งอุปสงค์

ด้านเอสแอนด์พี โกลบอลคาดการณ์ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง จะทำให้ความต้องการแรงงานอ่อนแอลง และอัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้าจากระดับ 3.9% ในปัจจุบัน สู่ระดับ 4.6% ในปี 2568

 

จีนคาดเศรษฐกิจปี 67 โต 5.3% อุตสาหกรรมรถอีวีมาแรง

ศูนย์วิทยาศาสตร์การคาดการณ์ของสถาบันวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราที่ทรงตัวในปี 2567 โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีจะขยายตัวประมาณ 5.3% ซึ่งรูปแบบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวลงในช่วงแรกแต่ปรับตัวขึ้นได้ในท้ายที่สุด จีดีพีจีนในไตรมาสแรกคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 5% ส่วนไตรมาส 2 คาดว่าจะขยายตัว 5.3%, ไตรมาส 3 ขยายตัว 5.5% และไตรมาส 4 ขยายตัว 5.4%

หง หย่งเหมียว ผู้อำนวยการของศูนย์ฯ กล่าวว่า เรามั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน โดยภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ไปจนถึงภาคบริการจะฟื้นตัว และคาดว่าภาคอุตสาหกรรมเกิดใหม่อย่างวัสดุชนิดใหม่และพลังงานใหม่นั้นจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว

อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในจีนคาดว่า จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันไป บางอุตสาหกรรมอาจจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และบางอุตสาหกรรมอาจจะฟื้นตัวขึ้นได้ โดยเซี่ยงไฮ้ซิเคียวริตีนิวส์คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของจีนจะยังคงขยายตัวต่อไป โดยยอดขายรถของจีนในปี 2567 น่าจะขยายตัว 3% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะ 31 ล้านคัน ส่วนยอดขายรถอีวีคาดว่าจะขยายตัวถึง 20% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะ 11.5 ล้านคัน

นอกจากนี้ คาดว่าอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเทียมจะฟื้นตัวขึ้นในปีนี้ หลังจากที่ราคาของลิเทียมคาร์บอเนตร่วงลงเมื่อปีที่แล้ว โดยความนิยมในรถอีวีระดับไฮเอนด์จะเป็นปัจจัยที่ผลักดันอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเทียม และธุรกิจที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือเอไอในจีนก็มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้เทคโนโลยีของประเทศในวงกว้าง ขณะที่บรรดาลูกค้าก็สนใจที่จะใช้งานผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเอไอ และธุรกิจเกมเองก็จะเป็นอีกธุรกิจที่ใช้เอไอด้วยเช่นกัน

 

เศรษฐกิจสหรัฐยังส่อแววถดถอย

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กคาดการณ์ว่า มีโอกาส 52% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญกับภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ขณะที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 1.5% ในปี 2567 หลังจากที่ขยายตัว 2.4% ในปี 2566

กระทรวงการคลังสหรัฐประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญกับความท้าทายด้านการคลังในระยะยาว โดยอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีคาดว่าจะสูงกว่า 200% ภายในปีพ.ศ. 2589 และแตะระดับ 566% ในปีพ.ศ. 2640 เนื่องจากจำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นและการขยายตัวที่ชะลอลงในระยะยาว โดยการที่จะป้องกันไม่ให้อัตราหนี้ต่อจีดีพีปรับตัวขึ้นในช่วง 75 ปีข้างหน้านั้น อาจจะต้องลดการใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ถึง 4.9% ของจีดีพีในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ การที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างสดใสในระยะยาวนั้น การปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเฉพาะความสามารถในการแข่งขันในภาคการผลิต และการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นเรื่องที่จำเป็น

รายงานจากแมคคินซีย์ระบุว่า การใช้เทคโนโลยีที่มาจากเจเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) หรือเจนเอไอก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตด้านแรงงานของสหรัฐได้ 0.5-0.9% ต่อปีไปจนถึงปี พ.ศ. 2593 เนื่องจากการขาดแคลนแรงงาน ภาวะหนี้สิน และเงินเฟ้อ ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้กลายมาเป็นประเด็นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ การเพิ่มความสามารถในการผลิตด้วยเอไอจะช่วยรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ เช่น การผลิต เกษตรกรรม และไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี ฮาร์วาร์ด บิสเนส รีวิวได้หยิบยกถึงประเด็นที่ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเอไอ เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์ การเป็นเจ้าของผลงานที่เกิดจากการใช้เอไอ ความกังวลเรื่องความปลอดภัย และการใช้คอนเทนต์โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น ดังนั้น การตรวจสอบข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะได้แก้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องความสามารถด้านการผลิตของแรงงาน และการกระตุ้นการขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ม.ค. 67)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top