จากกรณีเหตุล้อประคอง (Guide Wheel) หลุดจากแคร่ล้อ ร่วงจากขบวนรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ตกลงมาใส่รถแท็กซี่สีเขียวเหลือง บริเวณถนนเทพารักษ์ ระหว่างสถานีทิพวัล (YL22) และสถานีศรีเทพา (YL21) ฝั่งขาขึ้น เมื่อเย็นวานนี้ (2 ม.ค.) นั้น
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ประสบเหตุเป็นขบวนใหม่ จากการตรวจสอบประวัติการซ่อมบำรุง (Maintenance Log) พบว่า มีการซ่อมบำรุงตามรอบวาระโดยสม่ำเสมอ (ประจำวัน ประจำสัปดาห์ และวาระตรวจละเอียดทุก 15 วัน) ปัจจุบัน บริษัท Alstom (ผู้ผลิต) อยู่ระหว่างตรวจสอบชุดล้อประคองที่หลุดออกมา เพื่อหาสาเหตุโดยละเอียดต่อไป
อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคม ขอยืนยันความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และจะดำเนินทุกมาตรการไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ทั้งการป้องกัน ตรวจสอบ ในด้านความปลอดภัยการเดินรถ และกำหนดมาตรการ กฎระเบียบลงโทษผู้รับเหมา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนทั้งที่ใช้บริการรถไฟฟ้า และใช้ชีวิตเดินทางสัญจรในพื้นที่ของรถไฟฟ้า ในอนาคตจะมีการพิจารณาถึงเรื่องการตัดคะแนน หรือพิจารณาขึ้นบัญชีแบล็คลิสต์ เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการ
ด้านนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุ เมื่อเจ้าหน้าที่พบสัญญาณแจ้งเตือนความผิดปกติบริเวณล้อ จึงทำการขนถ่ายผู้โดยสารจากขบวนรถไฟฟ้า YM17 ลงที่สถานี แล้วนำขบวนรถไฟฟ้าออกจากระบบ เพื่อไปตรวจสอบที่ศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ศรีเอี่ยม และนำขบวนรถหมายเลข YM 08 ขึ้นให้บริการทดแทนที่สถานีศรีเอียม (YL17) โดยไม่มีส่วนโครงสร้างทางได้รับความเสียหาย จึงให้บริการจนถึงเวลา 24.00 น. ตามปกติ
พร้อมได้สั่งให้งดใช้ขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ใช้ชุดแคร่ล้อ (Bogie) ในล็อตเดียวกับขบวนที่เกิดเหตุ และตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงร่วมกับผู้ผลิต เพื่อดำเนินการแก้ไขและป้องกันให้ถูกจุดต่อไป และเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบเบ้าลูกปืนของล้อต่างๆ เพิ่มเติมจากการตรวจตามวาระปกติ ก่อนนำขบวนรถไฟฟ้าขึ้นมาให้บริการประชาชน
สำหรับในวันนี้ ได้นำขบวนรถที่ได้รับการตรวจสอบว่ามีความมั่นคงปลอดภัย มาให้บริการจำนวน 6 ขบวน (ปกติวิ่ง 21 ขบวนจากทั้งหมด 30 ขบวน) โดยปรับรูปแบบการให้บริการ โดยมีความถี่ทุก 30 นาที ไปจนถึงวันที่ 6 ม.ค.67 ที่จะมีการตรวจสอบจนครบและทยอยปรับความถี่ในการให้บริการจนเป็นปกติ (ทุก 5-10 นาที) ภายในวันที่ 8 ม.ค.67
ทั้งนี้ จะให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฟรี โดยไม่คิดค่าโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 3-6 ม.ค.67 และหากเกิดข้อผิดพลาดในการเก็บค่าโดยสารไปแล้ว สามารถเรียกขอเงินคืนได้ทันที
ส่วนมาตรการระยะยาว คือให้เร่งรัดการออก พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. เพื่อใช้ในการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และสามารถกำหนดบทลงโทษ และการชดเชยแก่ผู้โดยสาร และผู้ได้รับผลกระทบ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ม.ค. 67)
Tags: กระทรวงคมนาคม, รถไฟฟ้า, รถไฟฟ้าสายสีเหลือง