นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า เมื่อวาน (วันที่ 29 ธันวาคม 2566) ซึ่งเป็นวันแรกของวันหยุดต่อเนื่องช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 – 4 มกราคม 2567 มีประชาชนใช้บริการระบบราง รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,200,186 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 16 คน) ต่ำกว่าประมาณการ 299,271 คน-เที่ยว หรือต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 19.96 (ประมาณการ 1,499,457 คน-เที่ยว) แบ่งเป็น รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 90,322 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและรถไฟชานเมือง จำนวน 1,109,864 คน-เที่ยว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการรวม 206 ขบวน (รวมขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสาร 2 ขบวน คือขบวน 973 กรุงเทพอภิวัฒน์-อุบลราชธานี และขบวน 6 เชียงใหม่-กรุงเทพอภิวัฒน์ รองรับ 1,195 คน) มีผู้ใช้บริการจำนวน 90,322 คน-เที่ยว ต่ำกว่าประมาณการ 8,149 คน-เที่ยว หรือต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 8.28 (ประมาณการ 98,471 คน-เที่ยว) แบ่งเป็นผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 38,816 คน-เที่ยว และเชิงสังคม 51,506 คน-เที่ยว โดยมีผู้โดยสารขาออกจำนวน 49,214 คน-เที่ยว และผู้โดยสารขาเข้า 41,108 คน-เที่ยว
โดยพบว่า สายใต้มีผู้ใช้บริการมากสุดถึง 26,410 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 13,821 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 12,589 คน-เที่ยว) รองลงมาคือสายตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ใช้บริการ 25,609 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 15,272 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 10,337 คน-เที่ยว) สายเหนือ 18,795 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 9,746 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 9,049 คน-เที่ยว) สายตะวันออก 12,074 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 6,679 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 5,395 คน-เที่ยว) และสายแม่กลองและมหาชัย 7,434 คน-เที่ยว (ผู้โดยสารขาออก 3,696 คน-เที่ยว ผู้โดยสารขาเข้า 3,738 คน-เที่ยว)
2. ระบบรถไฟฟ้า ให้บริการเดินรถไฟฟ้ารวม 2,989 เที่ยว (รวมเสริม 13 เที่ยว) มีผู้ใช้บริการรวมจำนวน 1,109,864 คน-เที่ยว ต่ำกว่าประมาณการ 291,122 คน-เที่ยว หรือต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 20.78 (ประมาณการ 1,400,986 คน-เที่ยว) ประกอบด้วย รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 216 เที่ยว (รวมเสริม 1 เที่ยว) จำนวน 53,058 คน-เที่ยว รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ให้บริการ 308 เที่ยว จำนวน 20,003 คน-เที่ยว (รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลต่อสายสีแดงฟรี 16 คน) รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) 318 เที่ยว จำนวน 40,582 คน-เที่ยว รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) 472 เที่ยว (รวมรถเสริม 12 เที่ยว) จำนวน 303,326 คน-เที่ยว รถไฟฟ้าสายสีเหลือง 216 เที่ยว จำนวน 31,451 คน-เที่ยว รถไฟฟ้าสายสีชมพูมีผู้ใช้บริการจำนวน 52,094 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าบีทีเอส (สีเขียวและสีทอง) ให้บริการรวม 1,459 เที่ยว มีผู้ใช้บริการจำนวน 609,350 คน- เที่ยว (สายสีเขียว 595,341 คน-เที่ยว และสายสีทอง 14,009 คน-เที่ยว) โดยไม่มีเหตุรถไฟฟ้าขัดข้อง
สำหรับด้านความปลอดภัย มีเหตุอันตรายต่อการเดินรถไฟ 1 ครั้ง โดยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2566 เวลา 9.45 น. ขบวนรถสินค้าที่ 836 (แหลมฉบัง-ไอซีดี ลาดกระบัง) เฉี่ยวชนคนในเขตทาง เป็นชายอายุ 65 ปี เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 50/13 ที่หยุดรถคลองแขวงกลั่น ระหว่างสถานีเปรง-สถานีคลองบางพระ จากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้ขบวนรถสินค้าที่ 836 ล่าช้าไป 55 นาที
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางประสานผู้ให้บริการระบบราง พิจารณาดำเนินการตามมาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยฯ มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ปฏิบัติงานในการให้บริการเดินรถไฟ จัดชุดสุนัข K-9 ช่วยตรวจกระเป๋าสัมภาระ รวมทั้งประสานฝ่ายความมั่นคงมาช่วยดูแลในพื้นที่ระบบรางมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในช่วงวันหยุดต่อเนื่องเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 – 4 มกราคม 2567 นี้
สำหรับในวันนี้ (30 ธันวาคม 2566) ขร.ได้นำนโยบาย Quick Win ของนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคมมาขับเคลื่อน โดยเปิดให้บริการทางเดินเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูและรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิทส่วนต่อขยายที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุเป็นวันแรก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน และ รฟท.จัดขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสาร 1 ขบวน คือ ขบวน 5 กรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนที่จะเดินทางไป Countdown และกลับภูมิลำเนาเพิ่มเติม นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายของวันนี้ นายสุรพงษ์ จะเดินทางไปจะลงพื้นที่รถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู ที่สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 (PK08) เพื่อตรวจเยี่ยมและทดลองเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงสถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 (PK08) ไปยังสถานีกรมชลประทาน (PK05) และไปยังชานชาลาที่ 1 เพื่อขึ้นขบวนรถไฟฟ้าขบวนใหม่ไปยังสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) ในฝั่งที่รางนำไฟฟ้าไม่ได้ร่วงหล่นเสียหาย หากมีความเรียบร้อยและปลอดภัยในการใช้งาน จึงจะเปิดให้บริการในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ตั้งแต่เวลาเปิดให้บริการเพื่อรองรับการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้ามหานครสายสีชมพู กับรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรมที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีที่มีทางเดินเชื่อมต่อที่สะดวกแก่ผู้ใช้บริการระบบรางอีกด้วย
ส่วนที่รมช.คมนาคมได้มอบนโยบายให้หน่วยงานด้านระบบรางอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้บริการระบบรางในการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 โดยได้เตรียมรถขนส่งทางรางให้เพียงพอ ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง และเน้นย้ำด้านความปลอดภัยในการเดินทางด้วยระบบราง กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้นำนโยบายดังกล่าวมาขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดย ขร.ประสานผู้ให้บริการระบบรางดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ซึ่ง รฟท.จัดเพิ่มตู้พ่วงไปกับขบวนรถที่มีผู้โดยสารเดินทางหนาแน่น พร้อมจัดขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสารเพิ่มเติม และผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าเพิ่มความถี่ในการให้บริการในช่วงที่มีการเดินทางหนาแน่น พร้อมทั้งขยายเวลาให้บริการในวันสิ้นปีจนถึงเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2567
ในส่วนมาตรการด้านความปลอดภัย ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ โดยกำชับให้ตรวจสอบความพร้อมขบวนรถให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังความปลอดภัยจากกล้องวงจรปิด CCTV ตามสถานีรถไฟ/รถไฟฟ้า และบนขบวนรถไฟฟ้าและรถไฟทั่วประเทศ พร้อมกับเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ สารเสพติดของพนักงานก่อนปฏิบัติหน้าที่ และห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์บนขบวนรถไฟและบริเวณสถานีรถไฟทุกกรณีอย่างเด็ดขาด พร้อมทั้ง รฟท. ได้จัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยทั่วประเทศเพื่อรับแจ้งเหตุและประสานงานต่างๆ ตลอด 24 ชั่วโมง
ในโอกาสนี้ รฟท. ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นจัดอาสาสมัครเฝ้าระวังทางผ่านเสมอระดับรถไฟ – รถยนต์ ที่มีความเสี่ยง หรือบริเวณที่เป็นชุมชนหนาแน่นเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันเหตุทั้งทางถนนและทางรถไฟ พร้อมกับร่วมกับกองบังคับการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมบนรถไฟ โดยมีการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ มาปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภัย ตรวจตราความเรียบร้อยบนขบวนรถ ควบคู่กับการมีเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ และพนักงานรักษาความปลอดภัยช่วยดูแลเพิ่มอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ได้นำระบบติดตามขบวนรถไฟ (TTS:Train Tracking System) ที่สามารถตรวจสอบเวลา และตำแหน่ง ขบวนรถทุกขบวน โดยระบบจะแสดงสถานะการเดินรถให้ทราบทันที ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสาร และผู้ที่มารอรับที่ปลายทาง สามารถวางแผนการเดินทางรับส่งได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านความสะดวกและความปลอดภัย ช่วยสร้างความมั่นใจในการเดินทางแก่ผู้โดยสารตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง นอกจากนี้ รฟท.ร่วมกับ บริษัท ขนส่ง จำกัด บูรณาการโครงข่ายคมนาคม ตามนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” โดยได้นำรถบัสโดยสารเฉพาะของ บขส. (ไม่รวมรถร่วมบริการและรถตู้โดยสาร) เข้ามาจอดส่งผู้โดยสารขาเข้าบริเวณประตูที่ 3 ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
ซึ่งบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้ปรับกำหนดเวลาการเดินรถให้สอดคล้องกับเวลาเข้า – ออกของรถไฟแต่ละขบวน เพื่อรองรับผู้โดยสารทั่วไปที่เดินทางต่อเนื่อง และบริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด (รฟฟท.) ได้ขยายเวลาให้บริการของขบวนรถสายสีแดง ต้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จากเวลา 05.00 น. เป็นเวลา 04.00 น. ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2566 – 2 มกราคม 2567 สำหรับกลุ่มผู้โดยสารที่จะเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีแดง ช่วยเพิ่มทางเลือกการเดินทางที่สะดวกอย่างไร้รอยต่อให้กับประชาชน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ธ.ค. 66)
Tags: ผู้โดยสาร, พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์, รถไฟ, รถไฟฟ้า