Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประเมินมูลค่าการส่งออกในระยะต่อไป จะขยายตัวต่อเนื่อง นำโดยอาหาร เครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ดี ต้องจับตาความเสี่ยงจากห่วงโซ่อุปทานโลกหยุดชะงัก จากเหตุการณ์โจมตีเรือขนส่งสินค้าโดยกบฏฮูตี ในบริเวณทะเลแดง
SCB EIC มองมูลค่าการส่งออกไทย ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในเดือน ธ.ค.66 แต่จะยังไม่สะท้อนสภาวะการส่งออกที่ดีขึ้น เพราะยังมีผลปัจจัยฐานต่ำ โดยการส่งออกในเดือน ธ.ค. 65 หดตัวมากถึง -14.3% นอกจากนี้ การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในช่วงท้ายปี จะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงตั้งแต่ต้นปีได้ ส่งผลให้มูลค่าส่งออกสินค้าในปี 66 มีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อย
โดย SCB EIC คงประมาณการมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในระบบดุลการชำระเงิน (USD BOP basis) ปี 66 ที่ -1.5%YOY
สำหรับมูลค่าการส่งออกในปี 67 ประเมินว่ามีแนวโน้มกลับมาขยายตัวที่ 3.7% จากแรงสนับสนุนหลายด้าน ได้แก่
1. ปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัว แม้จะชะลอลงบ้างอยู่ที่ราว 2.5%
2. ภาคการผลิตที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศ จะกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในปี 67 หลังจากภาคบริการที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศน้อยกว่าเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในปี 66
3. ราคาสินค้าส่งออกยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงในปี 67 เช่น ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากภัยแล้ง และนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าในบางประเทศ
4. ความพยายามของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการผลักดันการส่งออกของไทย เช่น การขยายตลาดของสินค้าไทยในต่างประเทศ การแสดงสินค้าในต่างประเทศ การเดินหน้าจัดทำสนธิสัญญาการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ
5. ปัจจัยฐานต่ำ
SCB EIC มองว่า การส่งออกอาหารและเครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า จะเป็นกลุ่มสินค้าหลักขับเคลื่อนการส่งออกไทยในปี 67 โดยการส่งออกอาหารและเครื่องดื่ม มีแนวโน้มขยายตัว 13.9% (Contribution to export growth = 0.9%) เร่งตัวขึ้นจาก 7.5% ในปี 66 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก และรายได้ต่อหัวตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ขณะที่การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีแนวโน้มพลิกกลับมาขยายตัว 3.2% (Contribution to export growth = 0.8%) หลังจากหดตัว -4.7% ในปี 66 จากการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในโลก โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในโลก จะช่วยสนับสนุนให้ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไทยมากขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าจากจีน
ทั้งนี้ ความเสี่ยงจากห่วงโซ่อุปทานโลกหยุดชะงัก อาจปะทุขึ้นได้อีกครั้ง จากเหตุการณ์โจมตีเรือขนส่งสินค้าโดยกบฏฮูตีในบริเวณทะเลแดง (คลองสุเอซ) และระดับน้ำที่น้อยกว่าปกติในคลองปานามา ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญของโลกราว 12% ของปริมาณการค้าโลก นับว่าเป็นความเสี่ยงใหม่สำคัญที่ต้องจับตา
ปัจจุบัน ประเมินว่าการส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดยุโรป จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ เนื่องจากต้องอาศัยเส้นทางเดินเรือข้างต้น อย่างไรก็ดี ตลาดยุโรปคิดเป็นสัดส่วนไม่มากราว 10% ของการส่งออกไทยทั้งหมด ส่งผลให้การส่งออกไทยโดยรวมจะยังได้รับผลกระทบจำกัด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ธ.ค. 66)
Tags: SCB, การส่งออก, ธนาคารไทยพาณิชย์, อาหาร, อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องดื่ม, เครื่องใช้ไฟฟ้า