ทองปิดลบ $4.40 เหตุดอลล์แข็งฉุดตลาด

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพุธ (20 ธ.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2566 และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นข้อมูลเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ

  • ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 4.40 ดอลลาร์ หรือ 0.21% ปิดที่ 2,047.70 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 31 เซนต์ หรือ 1.27% ปิดที่ 24.631 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 8.20 ดอลลาร์ หรือ 0.85% ปิดที่ 974.00 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 14.00 ดอลลาร์ หรือ 1.13% ปิดที่ 1,226.90 ดอลลาร์/ออนซ์

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.24% สู่ระดับ 102.4171 เมื่อคืนนี้ โดยดอลลาร์ที่แข็งค่าทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาที่ไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาดของสหรัฐยังทำให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 110.7 ในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. จากระดับ 101.0 ในเดือนพ.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 104.5

ขณะที่สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองเพิ่มขึ้น 0.8% สู่ระดับ 3.82 ล้านยูนิตในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.78 ล้านยูนิต

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยในวันนี้จะมีการเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 3/2566 ส่วนในวันพรุ่งนี้จะเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนพ.ย., ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน, ยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ย. และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ย.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ธ.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top