นายกฯ เรียกถกด่วนแก้ PM2.5 ประสานเพื่อนบ้านลดเผา จ่อใช้มาตรการภาษีคุมเข้ม

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลที่กำลังประสบปัญหาฝุ่นอย่างหนักว่า ตอนนี้ทราบถึงปัญหาดังกล่าว และมีความเป็นห่วง โดยวันนี้จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสั่งการว่าจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร เรื่องนี้ประสบปัญหาทุกปี แต่เราไม่ได้นิ่งนอนใจ ทุกคนทราบดีว่ารัฐบาลมีการ Kick-off ไปแล้ว ในพื้นที่ของภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ แต่ว่าในส่วนของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่อนข้างที่จะแตกต่าง

นายเศรษฐา กล่าวว่า ทางพื้นที่พื้นที่ภาคเหนือ กองทัพได้ช่วยเหลืออยู่ตลอด โดยได้พูดคุยกับแม่ทัพภาค 3 และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้ช่วยดูแลเฝ้าระวังการเผาป่า นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของภาคอุตสาหกรรม หรือคมนาคม ขนส่งด้วย ซึ่งทุกคนมีส่วนที่จะรับผิดชอบทำให้ลดน้อยลงไป

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเอง ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะว่าเมียนมา และลาวก็มีส่วนกับเราทุกๆ ปี ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยทางลาว มีการพูดคุยกันว่า หากจะนำพืชผลกลับเข้ามาขายในประเทศไทย และยังมีการเผาซากก็ต้องถูกจัดเก็บภาษี ซึ่งต้องบริหารจัดการตรงนี้ให้ได้

ส่วนทางเมียนมา ต้องให้ฝ่ายทหารไปพูดคุยด้วยเหมือนกัน เพราะทราบพอดีว่าตรงพื้นที่ที่มีการเผาป่า เป็นพื้นที่ที่ประเทศเขามีปัญหาภายในบ้านเมืองของเขา ซึ่งเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการพูดคุยตลอดเวลา

สำหรับเรื่องการบังคับใช้มาตรการทางภาษีนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า สมมุติว่าภาคเอกชนมีการไปปลูกข้าวโพดที่ลาว และนำกลับเข้ามาจากประเทศไทย โดยหากภาครัฐพิสูจน์ได้ว่านำมาจากประเทศดังกล่าว และมีการเผาไหม้ซาก ก็จะมีการเก็บภาษีเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ และจะนำเงินตรงนั้นมาช่วยหยุดไฟป่า หรือทำให้การบำบัดซากพืชผลได้พัฒนาทำอย่างอื่นได้อย่าง เช่น ค่าขนส่ง ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกคนขานรับกับนโยบายนี้ เพราะว่าเป็นปัญหาใหญ่

เมื่อถามถึงสถานการณ์ฝุ่นในกรุงเทพมหานคร ที่ค่อนข้างวิกฤต รัฐบาลพอจะมีมาตรการเฉพาะกิจช่วยเหลืออย่างไรหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ตอบเพียงสั้นๆ ว่า พูดไปแล้ว ก่อนที่จะยกมือไหว้ และเดินออกจากวงสัมภาษณ์ไป

สำหรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งหลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะมีกระทบต่อการลงทุนนั้น นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องของการลงทุนในเรื่องของพลังงานสะอาด ตนเชื่อว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่า จะต้องมีการเร่งเจรจาในเรื่องของ FTA เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมากกว่าในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับช่องทางการค้าตามแนวชายแดน รวมทั้งจะต้องมีบุคลากรที่มีความพร้อมในการที่จะให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน การมีแรงงานที่มีคุณภาพ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top