ธปท. ย้ำศก.ไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่จับตาความเสี่ยงส่งออก อาจฟื้นช้ากว่าคาด

นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Monetary Policy Forum 4/2023 ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัว เพียงแต่แรงขับเคลื่อนอาจยังกลับมาได้ไม่ครบ โดยจะเห็นว่าในปีนี้การบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงส่งที่สำคัญจากการใช้จ่ายหมวดบริการ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้กลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด ตรงข้ามกับนักท่องเที่ยวไทยที่เพิ่มขึ้นและกลับมาอยู่ในระดับก่อนโควิดแล้ว อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตและส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก

พร้อมกันนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 67 และ 68 มีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้น โดยในปี 67 การส่งออกสินค้าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ และช่วยเป็นแรงเสริมภาคการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยในปี 67 ธปท.ประเมินว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 4.3% และ 3.3% ในปี 68 อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยยังมีความเสี่ยงจากที่อาจไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่คาด จากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย

สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 67 คาดว่าจะอยู่ที่ 34.5 ล้านคน ส่วนในปี 68 อยู่ที่ 39 ล้านคน ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนอาจจะช้ากว่าที่คาดไว้ โดยมองว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะกลับเข้าสู่แนวโน้มปกติได้ในปี 68 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวกลุ่ม non China

นางปราณี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในในภาพรวมอยู่ในทิศทางที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนที่ต้องจับตา โดยปัจจัยด้านบวก ได้แก่ อุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวสูงกว่าที่คาดไว้ ขณะที่ปัจจัยด้านลบ ได้แก่ เศรษฐกิจโลกแย่กว่าคาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน รวมถึงผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส และภาคการส่งออกไทย อาจได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกน้อยกว่าคาด จากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เปลี่ยนไป

คาดเงินเฟ้อจะเริ่มเป็นบวกใน Q1/67 และกลับสู่กรอบเป้าหมาย

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวถึงสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยว่า คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันจนถึงช่วงต้นปี 67 จะยังอยู่ในระดับต่ำ จากผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน, ฐานที่สูงในปีก่อนหน้า รวมถึงปัจจัยด้านอุปทาน โดยเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในเดือนธ.ค.นี้ จะยังติดลบต่อเนื่องจากเดือนพ.ย.

แต่อย่างไรก็ดี การที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำดังกล่าว ไม่ได้สะท้อนถึงภาวะเงินฝืด เนื่องจากอุปสงค์ยังเติบโตได้ดี เห็นได้จากการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3/66 ที่ขยายตัวได้ 8% จำนวนการจ้างงานมีสูงถึง 40 ล้านคน ในขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำเพียง 1% ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ สะท้อนภาพเศรษฐกิจว่าไม่ได้อยู่ในภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด

พร้อมมองว่า อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะเริ่มทยอยปรับเพิ่มขึ้น และกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาส 1/67 ตามราคาพลังงานและอาหารสดที่จะกลับมาสูงขึ้น และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ ธปท.ในช่วง 1-3% ได้ในปีหน้า โดยธปท.ประเมินว่าในปี 67 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ที่ 2.0% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 1.2% และในปี 68 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะอยู่ที่ 1.9% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 1.3%

นายสุรัช กล่าวด้วยว่า ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อเงินเฟ้อในระยะต่อไป ได้แก่ ปรากฎการณ์เอลนีโญที่รุนแรงกว่าคาด, ราคาพลังงานในตลาดโลกสูงกว่าที่คาด, เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าคาด และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพจากภาครัฐที่อาจมีเพิ่มเติมมากกว่าที่คาด

Digital Wallet ไม่กระทบเครดิตเรทติ้ง

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีมีข้อกังวลว่าโครงการ Digital Wallet จะเพิ่มภาระทางการคลัง และอาจส่งผลให้ถูกบริษัทเครดิตเรทติ้ง ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทยลงว่า โครงการ Digital Wallet อาจจะเพิ่มภาระทางการคลังได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังอยู่ภายใต้เพดานที่กำหนดไว้

หากมองไปในระยะยาว ถ้ามีการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการ Digital Wallet จริง ภาคการคลังก็ยังมีเสถียรภาพอยู่ ตราบใดที่มีเศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามที่ประมาณการไว้ ดังนั้นเชื่อว่าโครงการ Digital Wallet จะไม่เป็นตัวที่ทำให้ประเทศต้องถูกปรับลดเครดิตเรทติ้งแต่อย่างใด

ส่วนที่มีการมองว่า ธปท.มองภาพเศรษฐกิจไทยปีหน้าในมุมบวกเกินไปหรือไม่นั้น นายปิติ กล่าวว่า การประเมินภาพเศรษฐกิจของ กนง.ในปีหน้าที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2% ซึ่งยังไม่ได้รวมผลของโครงการ Digital Wallet ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับสำนักอื่น และยังเห็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสำนักอื่นว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเติบโตได้ดีกว่าปีนี้ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ถือว่ามีความเหมาะสมกับเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการมีโครงการ Digital Wallet หรือไม่มีก็ตาม

ดอกเบี้ยเหมาะสมภาวะเศรษฐกิจ

นายภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า หลักการสำคัญในการทำนโยบายการเงิน คือ การมองไปข้างหน้า และ look through noise วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า การใช้นโยบายการเงินให้เหมาะสมกับความจำเป็น รวมทั้งตระหนักถึงต้นทุนของนโยบายการเงิน โดยเฉพาะในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน

ส่วนที่มองกันว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันถือว่าสูงไปหรือไม่นั้น มองว่า ที่ผ่านมา อุปสงค์ยังสามารถขยายตัวได้ดี อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน (2.50%) ที่ระดับ neutral ถือว่ามีความเหมาะสม ไม่ได้ไปเพิ่มแรงสนับสนุน หรือฉุดเศรษฐกิจ ดังนั้นในภาวะที่เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ขยายตัวได้ดี จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำนโยบายการเงินไปเพิ่มแรงสนับสนุนดังกล่าว และเมื่อมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจในภาพรวมยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยปีหน้า เชื่อว่าแรงขับเคลื่อนจากภาคสินค้าและบริการจะสมดุลขึ้น

“ดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% เรามองว่าเหมาะสมกับเศรษฐกิจ แม้จะเป็นกรณีที่ยังไม่รวมเรื่อง Digital Wallet ในภาพรวมแล้ว เราไม่ได้มองภาพเศรษฐกิจที่ต่างไปจากหน่วยงานอื่น ที่ว่าเศรษฐกิจปีหน้า จะดีกว่าปีนี้”

นายภูริชัย กล่าว

พร้อมมองว่า ภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายในตลาดที่สูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ระดับของการตึงตัว ไม่ได้มากจนเป็นอุปสรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม อีกทั้งภาวะการชะลอตัวของสินเชื่อก็มีสาเหตุเฉพาะ และแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม โดยล่าสุดสถานการณ์เริ่มทรงตัวแล้ว

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อนโยบายการเงินที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ และนัยต่อการฟื้นตัวของการส่งออกไทย, แรงส่งจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ, ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และราคาพลังงาน, ผลกระทบต่อเงินเฟ้อ จากนโยบายรัฐอื่นๆ  

“การทำนโยบายการเงิน ต้องคิดถึงความเสี่ยง มีทั้งด้านสูงและด้านต่ำ แม้จะกังวลด้านต่ำ แต่ดอกเบี้ยนโยบายถือว่าอยู่ในระดับ neutral อยู่ในระดับตรงกลาง ทำให้เราสามารถจะ move ดอกเบี้ยไปได้ทั้ง 2 ฝั่ง คือถ้ามีความเสี่ยงด้านต่ำเข้ามา เราก็จะมี policy space ในการลดดอกเบี้ยเพื่อช่วย เหมือนเล่นเทนนิสแล้วเราอยู่กลางคอร์ท คือ พร้อมที่จะรับความเสี่ยงได้ทั้ง 2 ด้าน เป็นกลยุทธ์บริหารความเสี่ยงในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง ขอให้มั่นใจว่า กนง.ไม่ประมาท แต่ต้องปรับนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับการรองรับความเสี่ยงได้ทุกด้าน”

นายภูริชัย กล่าว

พร้อมระบุว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย อาจมีผลในการช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้รายย่อย แต่คงไม่มากเมื่อเทียบกับภาระหนี้เดิมที่มีอยู่ แต่สิ่งที่จะเกิดผลกระทบตามมาจากการลดดอกเบี้ย คือการเพิ่มแรงจูงใจให้ก่อหนี้ใหม่เพิ่มมากขึ้น และจะเป็นภาระการชำระหนี้ในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ธ.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top