นางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาได้ปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่และพันธกิจอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัย และการส่งเสริมสนับสนุนกิจการโทรทัศน์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้พัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีหลายโครงการที่ต้องหยุดชะงัก เพราะรอการบรรจุวาระเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม กสทช.
งานกิจการโทรทัศน์ ได้แก่ แนวทางการกำกับดูแลเพื่อรองรับการหลอมรวมในมิติต่างๆ การพิจารณานำ OTT ที่ให้บริการแพร่ภาพและกระจายเสียงเข้าสู่ระบบการกำกับดูแล ได้มีการจัดทำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตซึ่งจะระบุหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล OTT ดังกล่าวเรียบร้อยแล้วโดยเน้นการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น (light touch) ขั้นตอนต่อไปคือการนำร่างประกาศนี้ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ
แต่ภายหลังจากที่เสนอเพื่อบรรจุวาระเข้าที่ประชุม กสทช. ในเดือนตุลาคม ประธาน กสทช. ได้มีบันทึกลงวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ไม่บรรจุวาระการขอความเห็นชอบให้นำไปรับฟังความคิดเห็น โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับนิยามในร่างประกาศ และขั้นตอนในการประสานงานเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย
“การกำหนดนิยาม และชี้แจงอย่างชัดเจนว่าได้มีการหารือร่วมกับผู้แทนจากสานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) แล้วในทุกขั้นตอน ซึ่งขั้นต่อไปคือการนำร่างประกาศฯ ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จึงจะเดินหน้าต่อไปได้ ในระหว่างนี้ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านอินเทอร์เน็ตจึงต้องไปแจ้งข้อมูลกับ ETDA ไปก่อน “
ด้านการสนับสนุนการผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งมีแนวทางการสนับสนุนรายการสำหรับเด็กและเยาวชน รายการที่ส่งเสริมความหลากหลายในสังคม รายการเกี่ยวกับวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และรายการที่มีศักยภาพในการผลิตร่วมกับต่างประเทศนั้น ได้จัดทำและเสนอ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประกาศฯ ตามมาตรา 52) ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรียบร้อยแล้ว เข้าบรรจุวาระที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2566 แต่ต่อมาประธาน กสทช. มีบันทึกสั่งการลงวันที่ 30 ต.ค. 2566 ให้สำนักงานหารือประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนฯ ในการสนับสนุนตามร่างประกาศฯ ก่อนเสนอบรรจุวาระการประชุมต่อไป
ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ทางสำนักงานฯ ได้มีบันทึกข้อความแจ้งความคืบหน้า ตอบกลับไปว่า การพิจารณาร่างประกาศฯ ของ กสทช. คณะอนุกรรมการ และในเวทีการรับฟังความเห็นสาธารณะที่ผ่านมา ไม่มีประเด็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับฐานอำนาจในการจัดสรรเงิน กทปส. ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาก่อน ดังนั้น กระบวนการจัดทำร่างประกาศฯ จึงเป็นไปตามหลักการที่ กสทช. มีมติเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันพุธที่ 3 พฤษภาคม 2566 แล้ว
อย่างไรก็ดี เนื่องจากประธาน กสทช. มีข้อสั่งการท้ายบันทึกข้อความ ด่วนที่สุด ที่ กสทช 2304/2140 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ให้สำนักงานหารือประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนในการสนับสนุนตามร่างประกาศ ในขณะที่อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่และการแต่งตั้งใหม่ยังไม่เรียบร้อย ส่งผลให้ปัจจุบัน สำนักงานฯ ยังไม่สามารถเสนอเรื่องต่อที่ประชุม กสทช. ได้ และทำให้ระยะเวลาการจัดทำร่างประกาศฯ ต้องทอดยาวออกไป และไม่อาจบังคับใช้ร่างประกาศฯ ได้ทันภายในปี 2566
ด้านส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เพื่อทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2566 ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 แล้ว แต่ประธาน กสทช. ยังไม่บรรจุวาระ โดยสั่งการให้สำนักงานหารือประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนฯ ในการสนับสนุนตามร่างประกาศฯ ก่อนเสนอบรรจุวาระการประชุมต่อไป
นอกจากนี้ การปรับปรุงประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อม และสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพ โดยมุ่งหมายให้มีการส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมให้เป็นผู้มีคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ และสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุม ทั้งในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้สามารถเป็นสื่อกลางในการสร้างการมีส่วนร่วมและเกิดความเข้มแข็งในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ร่างประกาศดังกล่าวก็อยู่ระหว่างรอบรรจุวาระเข้าที่ประชุม กสทช. เช่นกัน
ส่วนโครงการศึกษาฉากทัศน์กิจการแพร่ภาพกระจายเสียงฯ หลังสิ้นสุดใบอนุญาต เพื่อประกอบการวางแนวทางและนโยบายรองรับกิจการโทรทัศน์ในอนาคตนั้น กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้กสทช. ได้ริเริ่มและเป็นตัวกลาง (facilitate) ในการเปิดเวทีหารือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของต้นแบบแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับชาติ (national streaming platform) ที่จะบูรณาการเนื้อหาจากช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดิน โฆษณา และข้อมูลผู้บริโภคให้อยู่ในระบบเดียวกัน ที่ผ่านมา ได้จัดเวทีหารือร่วมกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล สมาคมโฆษณา ผู้ให้บริการในกิจการโทรคมนาคม และผู้ผลิตสมาร์ททีวี และได้เสนอให้มีโครงการต้นแบบศึกษาความเป็นไปได้ (feasibility study) ในเรื่องนี้โดยจะเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยและพัฒนาบริการพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม หรือUSO(Universal Service Obligation)ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ธ.ค. 66)
Tags: กสทช., พิรงรอง รามสูต