In Focus: ส่องอนาคต OpenAI กับการปลด “แซม อัลท์แมน” สะเทือนวงการเทคโนโลยี

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นที่สร้างความฮือฮาอย่างมาก คงหนีไม่พ้นเรื่องใหญ่ในวงการเทคโนโลยี นั่นก็คือกรณีที่นายแซม อัลท์แมน ถูกปลดฟ้าผ่าจากตำแหน่งซีอีโอของโอเพนเอไอ (OpenAI) บริษัทเจ้าของแชตบอตเอไอที่สร้างปรากฏการณ์ไปทั่วโลกอย่าง แชตจีพีที (ChatGPT) และเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาด้วยการประกาศลาออกอย่างฟ้าผ่าเช่นกันของนายเกร็ก บร็อคแมน ประธานและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ผู้ที่ร่วมผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากกับนายอัลท์แมนจนมาถึงวันแห่งความสำเร็จของโอเพนเอไอ

ข่าวดังกล่าวสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่ววงการและสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาด อีกทั้งยังก่อให้เกิดการตั้งคำถามมากมายว่า เพราะเหตุใดนายอัลท์แมนจึงถูกไล่ออก ทั้ง ๆ ที่บริษัทกำลังไปได้สวย แผนการต่อไปของโอเพนเอไอคืออะไร อนาคตของบริษัทเทคโนโลยีดาวรุ่งแห่งนี้จะเป็นอย่างไร และอื่น ๆ อีกมากมายที่รอคอยคำตอบ

In Focus สัปดาห์นี้ จะพาทุกคนไปติดตามประเด็นร้อนแรงนี้ด้วยกันโดยเริ่มจาก…

 

แซม อัลท์แมน คือใคร?

แซม อัลท์แมน นั้นมีจุดเริ่มต้นในสไตล์สุดคลาสสิกของบรรดาหัวกะทิแห่งซิลิคอนวัลเลย์ เขาลาออกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในวัย 19 ปี เพื่อออกมาสร้างหนทางแห่งอนาคตของตนเองในปี 2548 โดยได้ร่วมก่อตั้ง ลูปท์ (Loopt) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสำหรับแชร์โลเคชัน แม้ว่าจะไม่โด่งดัง และอยู่ในจุดที่เรียกได้ว่าห่างไกลจากยักษ์ใหญ่ที่สร้างปรากฏการณ์อย่าง เฟซบุ๊ก (Facebook) หรือทวิตเตอร์ (Twitter) แต่ Loopt ก็สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากบรรดาบริษัทใหญ่หลายแห่ง รวมถึงซีคัวยา แคปิตอล (Sequoia Capital), นิว เอ็นเตอร์ไพรส์ แอสโซซิเอท (New Enterprise Associates) รวมถึงวาย คอมบิเนเตอร์ (Y Combinator) และได้เปิดทางให้แสงส่องลงมาที่นายอัลท์แมน จนเขาสามารถเปิดบริษัทร่วมทุนอย่าง ไฮดราซีน แคปิตอล (Hydrazine Capital) ขึ้นมาได้ด้วยตนเอง

นายอัลท์แมนสั่งสมประสบการณ์จนได้ขึ้นมาเป็นประธานของวาย คอมบิเนเตอร์ เขาทำหน้าที่ดูแลกองทุนของบริษัทชื่อดังหลายแห่ง รวมถึง เรดดิท (Reddit) ซึ่งเขาได้ช่วยเหลือให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านที่ยากลำบากไปได้สำเร็จในปี 2558 และหลังจากที่นายอัลท์แมนคร่ำหวอดอยู่ในวงการเทคโนโลยีมา 10 ปี โอเพนเอไอ ก็ถือกำเนิดขึ้น

 

โอเพนเอไอ : จุดกำเนิดดาวดวงใหม่ผู้สร้างประวัติศาสตร์

นายอัลท์แมนรวบรวมพวกพ้องคนดังในซิลิคอนวัลเลย์ รวมถึง นายปีเตอร์ ธีล จากเฟซบุ๊ก, นายรีด ฮอฟฟ์แมน จากลิงค์อิน (Linkedin), นายบร็อคแมน จากสไตรป์ (Stripe) ประกาศก่อตั้งโอเพนเอไอ โดยมีบุคคลที่มาแรงสุด ๆ ในวงการเทคโนโลยีอย่าง นายอีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และเทสลา (Tesla) ขึ้นแท่นประธานบริษัทร่วมกับนายอัลท์แมน

จุดเริ่มต้นของโอเพนเอไอคือ “บริษัทไม่แสวงผลกำไร” ที่มุ่งเน้นวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) เพื่อพัฒนาความฉลาดทางดิจิทัลในรูปแบบที่เป็นประโยชน์ในเชิงบวกมากที่สุด โดยไม่มีผลตอบแทนและภาระทางการเงินมาเป็นข้อจำกัด เป้าหมายของบริษัทคือการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง (Generative AI) ที่ปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ รวมถึงการพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) หรือ LLC ซึ่งแน่นอนว่ามีต้นทุนสูง บริษัทจึงตั้งเป้าหมายว่าจะต้องระดมทุนเงินบริจาค 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อโครงการพัฒนานี้

ในขณะที่โอเพนเอไอกำลังเติบโต นายมัสก์ได้ประกาศโบกมือลาออกจากคณะกรรมการบริหารบริษัท โดยให้เหตุผลว่าตำแหน่งนี้อาจสร้างความขัดแย้งต่อผลประโยชน์ในอนาคต ในฐานะที่เขาดำรงตำแหน่งซีอีโอของเทสลาซึ่งกำลังพัฒนาเอไอสำหรับรถยนต์ไร้คนขับ แต่แท้จริงแล้วนายมัสก์กล่าวกับนายอัลท์แมนว่า เขาเชื่อว่าโอเพนเอไอยังห่างไกลจากคู่แข่งรายอื่น ๆ เช่นกูเกิล

ในปี 2562 โอเพนเอไอได้สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการเปิดตัว GPT-2 เครื่องมือสร้างข้อความอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ ซึ่งสร้างสามารถป้อนคำสั่งได้ตั้งแต่ประโยคสั้น ๆ ไปจนถึงคำสั่งยาวเป็นหน้ากระดาษ ซึ่งโปรแกรมสามารถคาดเดาคำตอบต่าง ๆ ได้ เขียนนิยายได้ และให้ข้อมูลโต้ตอบได้เสมือนมนุษย์ โอเพนเอไอกลายเป็นที่จับตามองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และกลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก หลังจากเปิดตัว ChatGPT แชตบอตอัจฉริยะมากความสามารถในเดือนพ.ย. 2565 โดยความโด่งดังและความนิยมไปทั่วโลกของ ChatGPT ทำให้โอเพนเอไอพุ่งขึ้นมาอยู่แถวหน้าของวงการเทคโนโลยีภายในระยะเวลาอันสั้น และทำให้ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีรายอื่น ต่างพัฒนาแชตบอตเอไอของตนเองขึ้นถ้วนหน้าตั้งแต่กูเกิล ไปจนถึงไป่ตู้ (Baidu) ของจีน

 

โครงสร้างบริษัทที่แปลก ความกังวลของบอร์ดบริหาร – บริษัทเอไอที่หวาดกลัวในเอไอ

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าโอเพนเอไอเริ่มจากการเป็นบริษัทไม่แสวงผลกำไร แต่ไม่นานหลังจากที่นายมัสก์ออกจากบริษัทไป นายอัลท์แมน พร้อมด้วยนายบร็อคแมน และนายอิลยา ซูทส์เคเวอร์ หัวหน้าฝ่ายนักวิทยาศาสตร์ เล็งเห็นว่าถึงเวลาที่บริษัทจะดำเนินการโดยแสวงผลกำไรเสียที โดยได้ก่อตั้ง OpenAI LP ขึ้นมาภายใต้โครงสร้างของบริษัทในปี 2562 ซึ่งเปลี่ยนโอเพนเอไอจากบริษัทที่ไร้เงิน ไปสู่บริษัทที่มีมูลค่าราว 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี

นายอัลท์แมนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ผลักดันแผนการดังกล่าว เขาเป็นแม่เหล็กดึงดูดเม็ดเงิน และเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จเหล่านั้น นอกจากนี้การที่ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ประกาศลงทุนในโอเพนเอไอมูลค่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็เป็นผลงานของนายอัลท์แมนด้วย แต่นั่นก็เป็นแรงกดดันแก่บริษัทเล็กที่เคยไม่แสวงผลกำไรมาก่อน ที่ต้องมีภาระผูกพันในการขยายธุรกิจและสร้างรายได้ เพราะยิ่งได้รับการลงทุนมากเท่าไหร่ ผู้ที่ลงทุนย่อมต้องการผลตอบแทนที่คุ้มค่า และผู้ลงทุนเหล่านี้ไม่ได้มีความอดทนสูงนัก

นี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้นายอัลท์แมนผลักดันบริษัทให้สร้างนวัตกรรมให้เร็วขึ้นและปล่อยผลิตภัณฑ์ให้เร็วขึ้น ตามธรรมเนียมปฏิบัติของซิลิคอนวัลเลย์ที่ว่า “เล่นให้ใหญ่และไปให้เร็ว” แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจไม่ได้สมบูรณ์แบบในครั้งแรกเสมอไป แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ไม่ผิด และคณะกรรมการของบริษัทซึ่งมีหน้าที่คำนึงถึงผู้ถือหุ้นเป็นอันดับแรกและสำคัญที่สุด การเร่งขยายธุรกิจจึงเป็นเรื่องปกติ แต่โครงสร้างบริษัทโอเพนเอไอนั้นยังคงมีฝ่ายที่ไม่แสวงผลกำไรรวมอยู่ด้วย อีกทั้งยังควบคุมคณะกรรมการบริหารเป็นส่วนใหญ่ และด้วยความที่เอไอเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเลียนแบบคำพูดและพฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างน่าทึ่ง จนสามารถหลอกผู้คนให้เชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง การเร่งผลักดันเอไอเร็วเกินไปจึงกลายเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลให้กับคณะกรรมการบริหาร

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นวิเคราะห์ว่า คณะผู้บริหารของโอเพนเอไอมองว่าเทคโนโลยีในมือของบริษัทนั้นมีอานุภาพเทียบเท่าระเบิดนิวเคลียร์ ดังนั้นการที่นายอัลท์แมน ซึ่งเป็นผู้ดูแลระเบิดนิวเคลียร์ลูกนั้น เดินเกมเร็วเกินไป อาจเป็นความเสี่ยงต่อความวินาศสันตะโรของโลก และจุดเดือดที่สุดมาถึงเมื่อนายอัลท์แมนประกาศว่า โอเพนเอไอจะสร้างเครื่องมือที่ทำให้ทุกคนสามารถใช้ ChatGPT ในเวอร์ชันของตัวเองได้

นั่นเป็นเรื่องที่ล้ำเส้นเกินไปสำหรับคณะกรรมการบริหาร แม้แต่นายซูทส์เคเวอร์เองก็ด้วย พวกเขาจึงต้องการดับไฟ แต่กลายเป็นว่าพวกเขากำลังจุดไฟเผาตัวเอง

 

การไล่ออกที่ไร้เหตุผลชัดเจน นำไปสู่ความโกลาหล

ในวันศุกร์ที่ 17 พ.ย. 2566 โอเพนเอไอประกาศปลดนายอัลท์แมนออกจากตำแหน่ง โดยกล่าวว่า เขาไม่ตรงไปตรงมา และไม่มีความชัดเจนในการสื่อสารกับคณะกรรมการบริหาร ซึ่งขัดอำนาจหน้าที่ในการดำเนินความรับผิดชอบ แต่ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่า “ความไม่ตรงไปตรงมา” ดังกล่าวนั้นคืออะไร และนั่นนำไปสู่การโบกมือลาของนายบร็อคแมน ผู้เป็นประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง ซึ่งได้ประกาศลาออกในวันเดียวกันนั้นเอง

นายอัลท์แมนได้ช่วยก่อตั้งบริษัทจนกลายเป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในอุตสาหกรรมเอไอที่เติบโตอย่างรวดเร็ว การไล่บุคคลสำคัญเช่นนั้นออกได้สร้างความตกตะลึงแก่อุตสาหกรรม และสร้างความไม่พอใจให้กับพนักงานในบริษัท โดยในวันจันทร์ (20 พ.ย.) พนักงานมากกว่า 700 คน ออกมาขู่ว่าจะลาออกจากบริษัท หากไม่ยกเครื่องคณะกรรมการบริหารทั้งหมด

ยิ่งไปกว่านั้น สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักลงทุนบางส่วนกำลังมองหาหนทางฟ้องร้องคณะกรรมการที่ไล่นายอัลท์แมนออกจากตำแหน่ง โดยแหล่งข่าวระบุว่า นักลงทุนกังวลว่าอาจสูญเสียเม็ดเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐที่ลงทุนไปในโอเพนเอไอซึ่งเป็นเพชรเม็ดงามในพอร์ตการลงทุน เพราะบริษัทอาจล่มสลายลงได้

 

เส้นทางใหม่และอนาคตที่ไม่อาจคาดเดาได้

ในช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย โอเพนเอไอได้ประกาศจ้างนายเอ็มเมตต์ เชียร์ อดีตซีอีโอของทวิตช์ (Twitch) เข้าดำรงตำแหน่งซีอีโอของโอเพนเอไอแทนที่นายอัลท์แมน ซึ่งในเวลาต่อมา เขาได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับข่าวลือเรื่องการปลดนายอัลท์แมนว่า คณะกรรมการบริหารไม่ได้ไล่นายอัลท์แมนออกด้วยเหตุผลเรื่องความไม่ลงรอยกันในด้านความปลอดภัยใด ๆ ก็ตาม โดยเป็นเหตุผลที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง และตัวเขาเองคงไม่บ้าพอที่จะเข้ารับตำแหน่งซีอีโอของโอเพนเอไอ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการในการขยายโมเดลที่ยอดเยี่ยมของบริษัทในเชิงพาณิชย์

การที่นายเชียร์กล่าวถึงความปลอดภัยอาจบ่งชี้ว่า เหตุผลที่แท้จริงไม่ใช่ความขัดแย้งเรื่องการจัดการความเสี่ยงของเอไอที่อาจจะเกิดขึ้น แม้คำพูดของเขาอาจตีความไปในทางอื่นได้ด้วยเช่นกัน

ด้านนายสัตยา นาเดลลา ซีอีโอของบริษัทไมโครซอฟท์ก็ได้ออกมาประกาศจ้างนายอัลท์แมนและบร็อคแมน เข้าร่วมทำงานกับไมโครซอฟท์เพื่อเป็นผู้นำทีมวิจัยเอไอขั้นสูงชุดใหม่ และตั้งตารอจะเร่งดำเนินการเพื่อจัดเตรียมทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับความสำเร็จของพวกเขา

สำหรับตัวนายอัลท์แมนเองก็ได้ออกมากล่าวว่า ความสำคัญสูงสุดสำหรับตัวเขาและนายเดลลาคือการทำให้มั่นใจได้ว่าโอเพนเอไอจะยังคงเติบโตต่อไป เป้าหมายหลักของเราคือการทำให้สิ่งต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างราบรื่นสำหรับคู่ค้าและลูกค้าของเรา ความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ ทำให้เราบรรลุเป้าหมายนี้ได้ง่ายขึ้น

ล่าสุดในวันนี้ (22 พ.ย.) โอเพนเอไอประกาศว่าได้บรรลุข้อตกลงเพื่อให้นายอัลท์แมนกลับคืนสู่บริษัท และอัปเดตเรื่องการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการชุดใหม่ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่านายอัลท์แมนจะกลับไปทำงานที่โอเพนเอไอหรือไม่เพื่อสานต่อบริษัทที่เขาสร้างมากับมือ หรือจะเลือกทางเดินร่วมกับไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องจับตาดูกันต่อไป เพราะไม่ว่าเหรียญจะออกด้านใด อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและโอเพนเอไอย่อมได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top