สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกหลักเกณฑ์รองรับการจัดทำและเก็บรักษาบัญชีทดรองจ่ายทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพย์สินของลูกค้ามีการจัดเก็บแยกบัญชีอย่างถูกต้อง รวมทั้งกำหนดลักษณะลูกค้าเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองและได้รับทรัพย์สินคืนอย่างเป็นธรรม กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์
ตามที่ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการและร่างประกาศเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้าธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 เพื่อให้การคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้ามีความชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อเดือนกันยายน – ตุลาคม 2566 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตลาดทุนครั้งที่ 8/2566 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ซึ่งผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยและมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม โดย ก.ล.ต. ได้นำข้อเสนอแนะดังกล่าวมาปรับปรุงหลักการให้มีความเหมาะสมและผ่อนปรนขึ้น เช่น การลดความถี่และรายละเอียดในการจัดทำข้อมูล เพื่อมิให้เป็นภาระต่อผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ จนเกินควร นั้น
ก.ล.ต. จึงออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ จำนวน 2 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) กำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำบัญชี สำหรับกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ได้ทดรองจ่ายทรัพย์สินของตนแทนลูกค้าเพื่อเป็นประกันหรือชำระหนี้เกี่ยวกับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยมีข้อมูลตามที่กำหนดเพื่อให้แยกได้ว่าส่วนใดเป็นทรัพย์สินของลูกค้าหรือของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ และให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ จัดทำข้อมูลเป็นรายเดือนและจัดทำเมื่อผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ หยุดหรือถูกระงับการประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ ต้องจัดเก็บข้อมูลไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจากวันที่ทำธุรกรรม โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 หรือ 3 เดือนนับจากวันที่ประกาศลงนาม เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ มีเวลาเตรียมความพร้อม
(2) การกำหนดลักษณะลูกค้าซึ่งไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ที่มีสิทธิได้รับจัดสรรทรัพย์สินคืนก่อนเมื่อผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ โดยจะต้องไม่เป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาฯ ในลักษณะเป็นกรรมการ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม รวมถึงคู่สมรส ผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา หรือบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และผู้ที่มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่ทำให้พิจารณาได้ว่าเป็นตัวการ ซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อของบุคคลดังกล่าว หรือเป็นตัวแทนโดยมิได้เปิดเผยชื่อของบุคคลดังกล่าวในการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบัญชีซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของบุคคลดังกล่าว นอกจากนี้ ต้องไม่เป็นบริษัทใหญ่ หรือบริษัทย่อยของผู้ประกอบธุรกิจรายนั้นในวันที่มีการยื่นคำฟ้องนั้น โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 พ.ย. 66)
Tags: ก.ล.ต., ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า, สัญญาซื้อขายล่วงหน้า