นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงกรณีสื่อสังคมออนไลน์ได้มีการโพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการขยายเวลาเปิดจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าสูงสุด 90 วัน และแสดงความกังวลว่าอาจมีความยุ่งยากในการใช้บริการ หลังจาก รฟท. ปรับรูปแบบการจองตั๋วรถไฟล่วงหน้า ซึ่งต้องคำนวณระยะทางด้วยว่า การรถไฟฯ ขอยืนยันว่าในขั้นตอนการจองตั๋วจริง ผู้โดยสารจะไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนเพียงให้ผู้โดยสารแจ้งสถานีต้นทาง และสถานีปลายทางที่ต้องการเดินทาง ก็จะสามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ทันที
หากเป็นการจองผ่านระบบออนไลน์ D-Ticket ระบบจะคำนวณรายละเอียดการจองให้รับทราบทันทีว่า สามารถจองได้ล่วงหน้าสูงสุดได้กี่วัน หรือหากเลือกจองตั๋วผ่านเคาน์เตอร์สถานีรถไฟทั่วประเทศ เพียงแจ้งสถานีต้นทาง-ปลายทาง เจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋ว ก็จะแจ้งรายละเอียดให้ผู้เดินทางรับทราบเช่นกัน โดยไม่สร้างความลำบากแก่ผู้ใช้บริการแต่อย่างใด
ส่วนการโพสต์ข้อความอินโฟกราฟฟิกที่เผยแพร่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าสูงสุด 90 วัน ที่อาจสร้างความสับสนแก่ประชาชนนั้น มีเป้าหมายแค่แจ้งระเบียบข้อบังคับของการรถไฟฯ เท่านั้น ขณะที่วัตถุประสงค์หลักของการขยายเวลาเปิดจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าสูงสุด 90 วัน มีเป้าหมายสำคัญเพื่อต้องการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารในการเดินทาง ช่วยให้สามารถวางแผนการจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะในเส้นทางระยะไกลจะสามารถจองล่วงหน้าได้สูงสุด 90 วัน ส่วนผู้โดยสารที่ต้องการจองตั๋วโดยสารระยะสั้น ก็สามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 30 วัน เพราะยังมีขบวนรถ สายอื่นอีกหลายขบวนเป็นทางเลือกในการเดินทางได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 พ.ย. 66)
Tags: การรถไฟแห่งประเทศไทย, จองตั๋ว, รฟท., สื่อสังคมออนไลน์, เอกรัช ศรีอาระยันพงษ์