กระทรวงการคลังหารือร่วมกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งกองทุน Thailand ESG Fund กำหนดระยะเวลาลงทุน 8 ปีเต็ม วงเงินลงทุนไม่เกิน 100,000 บาท/ราย เริ่มภายในเดือน ธ.ค.นี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ข้อสรุปอนุมัติกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่ ภายใต้ชื่อ “กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน” หรือ Thailand ESG Fund (TESG) โดยเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ที่มีการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG กำหนดระยะเวลาการลงทุนในกองทุน TESG ต้องครบ 8 ปีเต็ม (10 ปีปฏิทิน) วงเงินลงทุนของนักลงทุนสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท/ราย ซึ่งเป็นวงเงินเพิ่มเติมจากการลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีอื่น ๆ ที่ภาครัฐให้สิทธิภายใต้วงเงินรวมไม่เกิน500,000 บาท/ราย
วัตถุประสงค์ของกองทุน TESG เพื่อต้องการให้มีการออมผ่านการลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น และสนับสนุนบริษัทในประเทศที่มีการดำเนินงานตามหลัก ESG เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ สังคม ประเทศ และนักลงทุน ซึ่งกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะเร่งการดำเนินงานผลักดันกองทุน TESG ออกมา โดยให้เปิดเสนอขายให้กัผู้ลงทุนได้ภายในต้นเดือนธ.ค.นี้ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถซื้อหน่วยลงทุน TESG และนำมาลดหย่อนภาษีงวดปี 66 ได้ทันที
นายลวรณ กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้ ในการเตรียมความพร้อม ก.ล.ต.จะวางกฎเกณฑ์ และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของการจัดตั้งและการลงทุนกองทุน TESG ให้แล้วเสร็จภายใน 2 วัน และหลังจากนั้นจะยื่นให้คณะกรรมการกฎษฎีกา ตีความเกี่ยวกับกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติภายในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ประเมินว่าการให้สิทธิลดหย่อนภาษีของกองทุน TESG จะทำให้กระทรวงการคลัง สูญเสียรายได้จากการจัดเก๊บภาษีไปเฉลี่ยใกล้เคียงกับการให้สิทธิลดหย่อนภาษีของกองทุน LTF เฉลี่ย 1 หมื่นล้านบาท/ปี แต่จะเป็นการสนับสนุนให้คนไทยมีการออมผ่านตลาดทุนมากขึ้น และส่งเสริมธุรกิจที่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG
ส่วนกองทุน SSF ที่จะสิ้นสุดระยะเวลาการให้สิทธิลดหย่อนภาษีในสิ้นปี 67 จะมีการนำเรื่องการปรับปรุงกองทุน SSF ในการให้สิทธิลดหย่อนภาษีและระยะเวลาในการลงทุนกองทุน SSF มาทบทวนอีกครั้งภายในปี 67
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุน TESG เป็นกองทุนที่สร้างทางเลือกในการออมให้กับคนในประเทศ โดยเฉพาะคนที่สนใจออมผ่านตลาดทุน และมองหาการลงทุนในธุรกิจที่ดำเนินงานตามหลัก ESG ที่เดินหน้าผลักดันธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และสามารถสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับนักลงทุนได้
โดยกองทุน TESG จะจำกัดให้ลงทุนเฉพาะบริษัทในประเทศไทยเท่านั้น เพราะต้องการส่งเสริมให้บริษัทไทยให้ความสำคัญในเรื่อง ESG ซึ่งเป็นการได้เงินสนับสนุนในการขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกิจตามหลัก ESG อย่างแท้จริง ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย
สำหรับกองทุน TESG ถือว่าเริ่มการดำเนินการจัดตั้งและเสนอขายให้กับผู้ลงทุนในระยะเวลาที่ค่อนข้างจำกัด เบื้องต้นประเมินว่าจะมีเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนในกองทุน TESG ในปีแรกราว 1 หมื่นล้านบาท เพื่อประเมินความสนใจในกองทุน TESG จากผู้ลงทุน ส่วนบริษัทจดทะเบียนที่เข้าเกณฑ์ ESG ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีจำนวน 210 บริษัท จากกว่า 800 บริษัท
นอกจากนี้ ยังเตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง ในการทบทวนกองทุน SSF ที่จะครบกำหนดในสิ้นปี 67 ซึ่งจะขอประเมินกองทุน TESG ก่อนว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และจะนำมาพิจารณาศึกษาในการหาข้อสรุปทบทวนกองทุน SSF เพิ่มเติม และยังมีการนำเสนอแนวคิดกองทุนอื่นๆเพิ่มเติม เช่น กองทุนการออมเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา รวมถึงการกำกับดูแลตลาดทุนให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน หลังจากเกิดเหตุการณ์ของ บมจ. มอร์ รีเทิร์น (MORE) และ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ที่สร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุน ทั้งนี้ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมา และการที่ตลาดทุนจะทำเพื่อสังคม เป็นต้น
“บริษัทในลิส ESG มี 200 บริษัท ก็เป็นบริษัทเล็ก ๆ ที่มีพอสมควร กองทุนนี้ ที่ลงทุนไปเป็นการสนับสนุนบริษัทที่ไม่ใหญ่มากนัก ให้เขาขับเคลื่อน ESG มากขึ้น และเป็นตัวอย่างให้บริษัทอื่น ๆ ได้ทำตามอย่างจริงจัง ในอนาคตอาจมีบริษัทอื่นเข้าเกณฑ์ ESG มากขึ้น ใน 800 บริษัทที่อยู่ในตลาด และเป็นไปตามที่นายกฯ และรัฐบาลต้องการให้ช่วยคนตัวเล็กมากขึ้น” นายกอบศักดิ์ กล่าว
ด้านนางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวว่า สมาชิก บลจ. มีความพร้อมในการจัดตั้อกองทุน TESG ซึ่งเป็นกองทุนที่ทุกคนได้รับทราบในเบื้องต้นไปแล้ว และได้ข้อสรุปในวันนี้ แต่ยอมรับว่าการทำงานในการเริ่มจัดกองทุน TESG ของ บลจ.ต่างๆ อาจจะต้องเร่งรีบกัน เพราะมีเวลาค่อนข้างจำกัดในช่วงท้ายปี รวมถึงการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งรีบกันทำงานเพื่อผลักดันกองทุน TESG ออกมาได้ทันในปีนี้
“ตอนนี้ ในส่วนของ บลจ. ก็ต้องรอการออกกฎเกณฑ์ และเงื่อนไขจากทางก.ล.ต. ที่จะออกมาในการจัดตั้งกองทุน TESG ซึ่งเราก็ทำงานแบบ Parallel ซึ่งทุกคนรับทราบเรื่องนี้ และก็เริ่มเตรียมตัวกันเพื่อผลักดันกองทุน TESG ออกมา” นางชวินดา กล่าว
โดยเบื้องต้น คาดว่า บลจ.ต่าง ๆ จะเริ่มเสนอขายกองทุน TESG ได้ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้ หลังจากที่ ครม.พิจารณาอนุมัติ และสามารถจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน TESG ของแต่ละ บลจ.ได้สำเร็จ ซึ่งระยะเวลาการขายให้ทันกับผู้ลงทุนที่ต้องการลดหย่อนภาษีในปี 66 มีเพียง 1 เดือน และมีวันหยุดค่อนข้างมาก ซึ่งมีความท้าทายในการทำงานเพื่อร่วมกันผลักดันกองทุน TESG ออกมาได้ทัน
ขณะที่เม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนในช่วงปีแรก มองสอดคล้องกับประธาน FETCO ที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าการเริ่มเสนอขายเป็นช่วงระยะเวลาที่สั้น และกระชั้นชิดใกล้สิ้นสุดปีภาษี 66 ทำให้ค่อนข้างท้าทายในเรื่องการจดทะเบียน รวมถึงการทำการสี่อสารการตลาดให้แก่ผู้ลงทุนได้รับทราบ
อย่างไรก็ตาม มองว่ากองทุน TESG จะเป็นกองทุนที่ช่วยดึงดูดและสร้างฐานผู้ลงทุน และผู้ที่สนใจออมผ่านการลงทุนในตลาดทุนรายใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น ทำไห้ฐานของผู้ลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ้งส่งผลบวกต่อการขยายตัวของตลาดทุนไทย ที่มีเม็ดเงินจากผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามา และสามารถเพิ่มสัดส่วนการออมผ่านตลาดทุนของคนในประเทศให้สูงขึ้น จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนไม่ถึง 10% ทำให้เป็นการส่งเสริมการออมของคนในประเทศและสร้างความยั่งยืนให้กับตลาดทุนไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ย. 66)
Tags: กระทรวงการคลัง, กองทุน Thailand ESG Fund