นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลที่รวดเร็วและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดย ดีป้า มีภารกิจสำคัญที่จะส่งเสริมให้ประชาชนไทยในกลุ่มและทุกช่วงวัยรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง และสามารถเลือกประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัย ถูกต้อง และเหมาะสมกับบริบทของตนเอง
จากผลสำรวจมูลค่าอุตสากรรมดิจิทัลประจำปี 2565 ที่ดำเนินการโดย depa แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลที่ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมหลักคือ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Devices) อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล (Digital Services) อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และ อุตสาหกรรมสื่อสาร (Telecommunication) มีมูลค่ารวมกว่า 2.61 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนหน้าเฉลี่ย 14% โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงที่สุดคือ อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล ซึ่งในปี 2565 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 281,515 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2564 ถึง 21% และมีตัวเลขที่น่าสนใจจากกลุ่มอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลที่สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมสื่อ ได้แก่ กลุ่มสื่อออนไลน์ (Online Media) มีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 42,911 ล้านบาท เติบโต 19% และกลุ่มผู้ให้บริการโฆษณาออนไลน์ (e-Advertise) มีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 22,119 ล้านบาท เติบโต 7%
นอกจากนี้ ดีป้า ยังได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ประจำปี 2565 โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 40,518 ล้านบาท โดยหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าจับตาคือ อุตสาหกรรมแอนิเมชัน ซึ่งปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 15% มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3,936 ล้านบาท โดยประเทศไทยถือเป็นแหล่งรับจ้างสำคัญของงาน Animation และ CG / VFX โดยกลุ่มประเทศที่เป็นผู้ว่าจ้างหลักคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ กลุ่มประเทศจากทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ กัมพูชา เวียดนาม แคนาดา โดยมีมูลค่าการส่งออกในปี 2565 มากถึง 2,610 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโต 21% ซึ่งจุดแข็งที่ทำให้งาน Animation และ CG/VFX ของไทยเป็นที่ยอมรับมาจากบุคลากรที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญระดับสูง ความคิดสร้างสรรค์ และราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพของงาน
“ดีป้า เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ต้องเปลี่ยนผ่านไปในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จึงได้ดำเนินโครงการ Digital Skills for Media Industry โดยการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชนให้สามารถปรับตัวต่อบริบทของสังคมในยุคดิจิทัล ผ่านการส่งเสริมการพัฒนาผู้บริหารสื่อและบุคลากรในอุตสาหกรรมสื่อ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถปรับตัวสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น รวมถึงส่งเสริมการพัฒนานักศึกษาจบใหม่ ให้มีศักยภาพและพร้อมเข้าสู่การเป็นบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมสื่อสมัยใหม่ และยกระดับอุตสาหกรรมสื่อไทยให้ทัดเทียมกับตลาดโลก โดยมีเป้าหมายรวม 1,060 คน” นายณัฐพล กล่าว
นางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า โครงการ Digital Skills for Media Industry เป็นโครงการที่สอดคล้องกับแผนแม่บทของกสทช. ในแง่ของการพัฒนาทักษะในกับบุคลากรในอัตสาหกรรมการสื่อสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันการสื่อสารถูก Disruption จึงจำเป็นต้องพัฒนาอุตสาหกรรม พัฒนาบุคลากรเพื่อที่จะสร้างเนื้อหาสาระใหม่ ๆ และสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้
โดยความท้าทายของสื่อในปัจจุบันคือการเกิดขึ้นของ Platform ใหม่ ๆ เข้ามาแย่งเม็ดเงินและพื้นที่การชมของผู้ชม รวมทั้งล่าสุดการพัฒนาของเทคโนโลยี Generative AI อย่าง ChatGPT สามารถเขียนข่าว หรือสร้าง Content ได้ ดังนั้นโครงการถัดไปดีป้าอาจจะต้องทำโครงการในการปรับสกิลนักข่าวหรือนักสร้าง Content ต่าง ๆ ให้สามารถปรับตัวหรือเรียนรู้จาก Generative AI ได้อย่างไร เป็นโจทย์ถัดไปและเป็นความท้าทายที่ต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนว่าบุคลากรในอุตสาหกรรมต้องมีการพัฒนาทักษะใหม่อยู่เสมอ
นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการเกิดขึ้นของ Platform และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้สามารถเข้าถึงสื่อได้เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นประโยชน์ให้กับวงการสื่อในการใช้ประโยชน์ต่างเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมทั้งการเรียนรู้ดูแบบอย่างจากประเทศตัวอย่างในการบริการจัดการและสามารถทำให้สื่อยังเป็นตัวขับเคลื่อนความคิดของสังคมได้ และสามารถสร้างรายได้ให้กับสื่ออีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ย. 66)
Tags: ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์, ดีป้า, ทักษะดิจิทัล, อุตสากรรมดิจิทัล, อุตสาหกรรมสื่อ