ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 30 ตุลาคม 2566 เวลา 11.00 น. ในคดีหมายเลขดำที่ 443/2566 คดีหมายเลขแดงที่ 544/2566 ระหว่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา)
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี)มีมติในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 รับทราบการควบรวมธุรกิจระหว่างบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) และบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) โดยมติเสียงข้างมากเห็นว่าการรวมธุรกิจดังกล่าวไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันซึ่งผู้ฟ้องคดี เห็นว่า เป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันกิจการโทรคมนาคม จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล)
ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของคณะกรรมการ กสทช. ในการประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม2565 ผู้ฟ้องคดีก็ควรจะต้องทราบถึงความมีอยู่ของมติพิพาทตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการ กสทช. ได้มีการประชุมและลงมติ และสำนักงาน กสทช. (ผู้ถูกฟ้องคดที่ 2) ได้เผยแพร่ผลการประชุมเป็นการทั่วไปต่อสาธารณะและลงประกาศในเว็บไซต์ของผู้ถูกฟ้องคดที่ 2 ด้วยแล้ว
และผู้ฟ้องคดีได้ทราบว่า เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 สภาองค์กรผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการ กสทช.(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้เพิกถอนมติในการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีก็ควรจะรู้หรือได้รู้ถึงความมีอยู่ของมติพิพาทอย่างช้าสุดในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 หาใช่จะถือเอาวันที่ 10 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้เข้าไปดูเว็บไซด์ของผู้ถูกฟ้องดดีทั้งสอง จึงพบว่ามีการเผยแพร่รายงานการประชุม
การที่ผู้ฟ้องนำคดีมาฟ้องต่อศลเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 จึงเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เมื่อคดีนี้มิได้เป็นคดีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคลที่จะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งคดีนี้ย่อมมีผลอันเกี่ยวด้วยการใช้อำนาจและหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในการกำกับดูแลผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และการควบรวมธุรกิจครั้งที่ 71 /2566 ระหว่าง TRUE และ DTAC เท่านั้น มิได้กระทบต่อสาธารณะโดยตรงหรือเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมโดยแท้แต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏเหตุจำเป็นอื่นที่เป็นอุปสรรคขัดขวางทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจยื่นคำฟ้องภายในระยะเวลาการฟ้องคดีที่กฎหมายกำหนด
ศาลจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจรับคำฟ้องคดนี้ไว้พจิรณาได้ทั้งนี้ตามมาตรา 52 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบกับข้อ 30 วรรคสองแห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ต.ค. 66)
Tags: DTAC, TRUE, กสทช., ศาลปกครอง