นายฟาติห์ บิโรล ผู้อำนวยการบริหารของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เปิดเผยว่า จีนเคยเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานโลกมาแล้ว และคาดว่าจะเปลี่ยนมันอีกครั้ง ขณะที่ความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลใกล้แตะระดับสูงสุด
นายบิโรลกล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีเมื่อวันอังคาร (24 ต.ค.) ว่า จีนเป็นสาเหตุสำคัญของการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยระบุว่า “จีนได้เปลี่ยนระบบพลังงานโลกในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และจีนเองก็กำลังเปลี่ยนไปเช่นกัน เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลง โดยอยู่ระหว่างการปรับสมดุลและปรับโครงสร้างใหม่”
นายบิโรลกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวในฐานะ 1 ใน 2 ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความเชื่อของ IEA ที่ว่า ความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลโลกจะแตะระดับสูงสุดในปี 2573 ซึ่งความคิดเห็นดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก IEA เผยแพร่รายงานแนวโน้มพลังงานโลกประจำปี 2566 (World Energy Outlook 2023) ซึ่งเป็นรายงานที่สำคัญเกี่ยวกับระบบพลังงานโลก
จากการวิเคราะห์พบว่า ความต้องการน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ กำลังพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดก่อนสิ้นสุดทศวรรษนี้ โดยที่สัดส่วนของเชื้อเพลิงฟอสซิลในการจัดหาพลังงานโลกลดลงแตะ 73% ภายในปี 2573 หลังจากที่ติดอยู่ที่ระดับ 80% มานานหลายสิบปี
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจีนนั้น รายงานของ IEA ระบุว่า จีนมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของความต้องการพลังงานโลกที่เพิ่มขึ้น และ 85% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เพิ่มขึ้นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา
รายงานระบุว่า การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนผ่านถ้อยแถลงของนายบิโรล ที่ระบุว่า “เมื่อย้อนกลับเมื่อปี 2550 นายกรัฐมนตรีจีนในขณะนั้นกล่าวเตือนว่า ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจจีนคือ การเติบโตที่ไม่มั่นคง ไม่มีเสถียรภาพ ไม่สอดประสานกัน และไม่ยั่งยืน การปรับสมดุลทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มภาคพลังงานของจีน และเมื่อพิจารณาจากขนาดของจีนแล้ว มันอาจส่งผลกระทบต่อโลกด้วย”
นายบิโรลกล่าวว่า เศรษฐกิจของจีนตอนนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยพึ่งพาอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การผลิตเหล็กกล้าหรือปูนซีเมนต์ ตลอดจนรางรถไฟและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ พร้อมย้ำว่า การพึ่งพาสิ่งเหล่านี้กำลังลดน้อยลง
“ด้วยเหตุนี้ ความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลของจีนจะลดน้อยลงมากกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และนี่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนอย่างที่ 2 ที่ทำให้เราเชื่อว่า เราจะได้เห็นดีมานด์เชื้อเพลิงฟอสซิลแตะระดับสูงสุดในทศวรรษนี้” นายบิโรลกล่าวเสริม
ทั้งนี้ นายบิโรลระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการแตะระดับสูงสุดของเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกประการหนึ่งคือ พลังงานสะอาด รวมถึง ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าที่มีความสำคัญมากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 66)
Tags: IEA, จีน, เชื้อเพลิงฟอสซิล