ดาวโจนส์ปิดลบ 159.42 จุด นักลงทุนยังเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดปรับตัวลงต่อเมื่อคืนนี้ (4 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ออกมา ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับมูลค่าหุ้นที่สูงเกินไป และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างอ่อนแอ แต่ดัชนีหุ้นลดช่วงติดลบลงได้บางส่วนก่อนปิดตลาด ขณะที่การซื้อขายยังคงเป็นไปอย่างผันผวน

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,133.31 จุด ลดลง 159.42 จุด หรือ -0.56%,
  • ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,426.96 จุด ลดลง 28.10 จุด หรือ -0.81% และ
  • ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,313.13 จุด ลดลง 144.97 จุด หรือ -1.27%

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ร่วง 1.82%, ดัชนี S&P500 ร่วง 2.31% หลังปรับตัวขึ้น 5 สัปดาห์ติดต่อกัน และดัชนี Nasdaq ร่วงลง 3.27% โดยร่วงลง 2 วันติดต่อกันรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.

หุ้นของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ อาทิ อัลฟาเบท, แอมะซอนดอทคอม และเฟซบุ๊ก ลดช่วงติดลบเมื่อปิดตลาด แต่ก็ยังร่วงลงมากกว่า 2% ส่วนหุ้นเน็ตฟลิกซ์และไมโครซอฟท์ลดลง 1.8% และ 1.4% ตามลำดับ ขณะที่หุ้นแอปเปิลฟื้นตัวปิดบวกเล็กน้อย

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของดัชนี S&P500 ปรับตัวลงอีก 1.34% หลังร่วงลง 5.83% ในวันพฤหัสบดี

นักวิเคราะห์รายหนึ่งระบุว่า ตลาดปรับตัวลงต่อเนื่องจากวันพฤหัสบดี โดยเป็นการปรับฐานลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง แต่การที่ตลาดเริ่มมีเสถียรภาพในวันศุกร์นี้นั้น อาจถือเป็นสัญญานที่ดี

ตลาดถูกกดดันจากแรงขายทำกำไรท่ามกลางความวิตกของนักลงทุนเกี่ยวกับราคาหุ้นในดัชนี Nasdaq ที่ปรับตัวขึ้นร้อนแรงเกินไป

ดัชนี Nasdaq ฟื้นตัวขึ้นมากถึง 82% จากระดับต่ำสุดในเดือนมี.ค.หลังได้รับผลกระทบจากโรคโควิดระบาด ขณะที่ดัชนี S&P500 และดัชนีดาวโจนส์ พุ่งขึ้นราว 60% จากระดับต่ำสุดในเดือนมี.ค.

หุ้น 3 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ซึ่งได้แก่หุ้นกลุ่มบริการสื่อสาร, กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย และกลุ่มเทคโนโลยี ร่วงลงมากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซนต์

ส่วนกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นได้แก่กลุ่มการเงิน และกลุ่มสายการบิน ซึ่งปรับตัวขึ้น 2.2% และ 1.85% ตามลำดับ

หุ้นบรอดคอม อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทซัพพลายเออร์ของแอปเปิล พุ่งขึ้น 3% สวนทางตลาด หลังจากคาดการณ์รายได้ในไตรมาส 4 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ประมาณการณ์

ผู้จัดการกองทุนเตือนว่า การร่วงลงของตลาดอาจเป็นตัวอย่างของภาวะตลาดที่ผันผวนในช่วง 2 เดือนข้างหน้าก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พ.ย. ขณะที่นักลงทุนสถาบันเริ่มกลับจากวันหยุดพักร้อน และจะมุ่งความสนใจไปที่แนวโน้มปัญหาด้านเศรษฐกิจอีกครั้ง

ดัชนีความผันผวนซึ่งบ่งชี้ความวิตกของนักลงทุนในตลาดนั้น ปิดลดลง หลังพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 11 สัปดาห์ในช่วงเช้า

การเปิดเผยข้อมูลจ้างงานที่เพิ่มขึ้นเกินคาดไม่ได้ช่วยหนุนตลาดแต่อย่างใด โดยสำนักงานสถิติแรงงาน กระทรวงแรงงานสหรัฐ รายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านตำแหน่งในเดือนส.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.255 ล้านตำแหน่ง ซึ่งสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่หยุดชะงักไปจากผลกระทบของมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจ้างงานเดือนส.ค.ชะลอตัวลงจากที่เพิ่มขึ้น 1.73 ล้านตำแหน่งในเดือนก.ค. และลดลงอย่างมากจากที่เพิ่มขึ้น 4.79 ล้านตำแหน่งในเดือนมิ.ย.

ส่วนอัตราการว่างงานเดือนส.ค. ลดลงสู่ระดับ 8.4% จากระดับ 10.2% ในเดือนก.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 9.8% โดยนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่อัตราว่างงานของสหรัฐอยู่ต่ำกว่าระดับ 10%

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ย. 63)

Tags: , ,
Back to Top