จับตาแผนดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติในรูปแบบ “ภูเก็ตโมเดล” การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ให้ท่องเที่ยวแบบจำกัดพื้นที่ โดยกระทรวงการท่องเที่ยว ร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อยู่ระหว่างศึกษา และจะลงพื้นที่เพื่อฟังเสียงประชาชนในพื้นที่ก่อน
ล่าสุดมีการปรับรูปแบบการดำเนินงาน “ภูเก็ตโมเดล”เดิม ที่ผ่านการเห็นชอบของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส ควิด-19 (ศบศ.) แล้ว โดยดำเนินการผ่าน บริษัท ไทยจัดการลองสเตย์ จำกัด (THAI LONGSTAY MANAGEMENT) ที่จะให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่แจ้งความประสงค์จะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และต้องทำการกักตัวเอง 14 วันในรูปแบบกักตัวอยู่ในห้องของโรงแรมที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล (Alternative State Quarantine:ASQ) โดยจะต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด เมื่อครบ 14 วันก็สามารถเดินทางภายในจังหวัดได้ แต่หากต้องการเดินทางข้ามจังหวัดก็ต้องกักตัวเพิ่มอีก 7 วัน รวมเป็น 21 วัน
ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ เช่น หาดป่าตอง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ จะปิดพื้นที่ในรัศมี 1 กิโลเมตรรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไป และต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วันในโรงแรมสถานที่กักตัวทางเลือก (ASQ) เมื่ออยู่ครบแล้วจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ถ้าผลออกมาไม่พบเชื้อนักท่องเที่ยวคนนั้นจะสามารถออกจากพื้นที่จำกัดไปท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นในจังหวัดภูเก็ตได้
แต่หากนักท่องเที่ยวผู้นั้นต้องการจะเดินทางไปเที่ยวจังหวัดอื่นๆ นอกภูเก็ต ก็ต้องอยู่ในสถานที่จำกัดอีก 7 วันรวมเป็น 21 วัน และจะมีการตรวจเชื้ออีกครั้งก่อนจะอนุญาตให้เดินทางออกจากภูเก็ตได้ ดังนั้น หากต้องการไปจังหวัดอื่นนอกจากภูเก็ต นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องตรวจเชื้อ 3 ครั้ง แต่ถ้าอยู่ท่องเที่ยวเฉพาะในภูเก็ตจะตรวจ 2 ครั้ง
ขณะที่เจ้าหน้าที่โรงแรม และร้านอาหาร รวมถึงผู้ที่ให้บริการภายในพื้นที่จำกัดทุกคนต้องห้ามออกนอกพื้นที่ตลอดเวลา และต้องเข้าตรวจหาเชื้อเช่นกันเพื่อสร้างความมั่นใจ
หาก “ภูเก็ตโมเดล” ประสบความสำเร็จ ภาครัฐก็จะผลักดันให้ขยายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไปสู่จังหวัดอื่นๆ ให้ครบทั้ง 6 ภูมิภาค หรือ 6 จังหวัดเมืองหลัก เช่น ภาคเหนืออาจเป็น เชียงใหม่ หรือ เชียงราย, ภาคอีสาน ที่ อุบลราชธานี หรือ อุดรธานี, ภาคตะวันออก ที่ จันทบุรี หรือ ระยอง, ภาคตะวันตก อาจเป็น ราชบุรี หรือ กาญจนบุรี, ภาคใต้ ซึ่งมีภูเก็ตโมเดลแล้ว ก็ยังมีกระบี่ กับ สุราษฎร์ธานี เป็นตัวเลือก และภาคกลางที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยว 2 ล้านคน ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง สิ้นเดือนมีนาคม 2564
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว กรมการบินพลเรือน และสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต ระบุว่า ในปี 62 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา จ.ภูเก็ต 14,545,187 คน เพิ่มขึ้นจากปี 61 จำนวน 135,975 คน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 73.1% หรือประมาณ 10 ล้านคน และนักท่องเที่ยวคนไทย 26.9% หรือ ประมาณ 4 ล้านคน
ในส่วนของรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 62 สร้างรายได้ 471,606 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 61 จำนวน 22,505 ล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวมากที่สุด ได้แก่ จีน รัสเซีย ออสเตรเลีย เยอรมนี และสหราชอาณาจักร
ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีผู้ประกอบการได้รับตราสัญลักษณ์ SHA มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากกรุงเทพมหานคร หากโปรเจ็คต์นี้เป็นไปตามแผนเชื่อว่าโอกาสที่จะเดินหน้าโครงการนำต่างชาติเที่ยวไทยในจังหวัดอื่นๆ ก็น่าจะเห็นแสงสว่างอยู่รำไร ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ วิธีการป้องกัน การคุมเข้ม การคัดกรองเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2 ที่ต้องทำอย่างรอบคอบและรัดกุม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 63)
Tags: Infographic, THAI LONGSTAY MANAGEMENT, กรมการท่องเที่ยว, กรมการบินพลเรือน, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ททท., ท่องเที่ยว, ท่องเที่ยวไทย, ภูเก็ต, ภูเก็ตโมเดล, สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค, ไทยจัดการลองสเตย์