จากการคำนวณของสำนักข่าวรอยเตอร์โดยอิงข้อมูลจากผู้ค้าและผู้ขนส่งทางเรือบ่งชี้ว่า จีนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในปีนี้ได้เกือบ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ จากการซื้อน้ำมันจากประเทศที่ถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกปริมาณมากเป็นประวัติการณ์
ผลที่ตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจจากการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรโดยสหรัฐและประเทศอื่น ๆ ต่อรัสเซีย อิหร่าน และเวเนซุเอลา ได้ลดต้นทุนการนำเข้าน้ำมันของเหล่าผู้ผลิตจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจรายใหญ่ ที่มักวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้งว่า การคว่ำบาตรดังกล่าวเป็นการลงโทษอยู่ฝ่ายเดียว
ทั้งนี้ การวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์เกี่ยวกับเงินที่จีนประหยัดได้จากการซื้อน้ำมันนั้น มาจากการเปรียบเทียบราคาที่ผู้นำเข้าของจีนจะต้องจ่ายจากการซื้อน้ำมันจาก 3 ประเทศที่ถูกคว่ำบาตรกับการซื้อน้ำมันเกรดที่คล้ายคลึงกันจากผู้ผลิตที่ไม่ได้ถูกคว่ำบาตร
การนำเข้าที่มีราคาถูกลงนั้นเป็นผลดีต่อการเพิ่มปริมาณการผลิตและผลกำไรให้กับจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและบริโภคน้ำมันรายใหญ่อันดับสองของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการอิสระรายย่อยที่เรียกว่า “กาน้ำชา” และอำนวยความสะดวกในการส่งออกที่ทำกำไรอย่างมากโดยรัฐวิสาหกิจผู้ผลิตน้ำมันดีเซลและเบนซินในขณะที่ประเทศเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ การซื้อน้ำมันของจีนยังสร้างรายได้ให้กับรัสเซีย อิหร่าน และเวเนซุเอลา ซึ่งเศรษฐกิจถูกกระทบจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกและการลงทุนที่ลดลง
ค่าเฉลี่ยของข้อมูลจากการติดตามเรือบรรทุกน้ำมันของวอร์เท็กซา (Vortexa) และเคปเลอร์ (Kpler) แสดงให้เห็นว่า จีนมีการนำเข้าน้ำมันดิบทางทะเลมากเป็นประวัติการณ์ถึง 2.765 ล้านบาร์เรลต่อวัน (bpd) จากอิหร่าน รัสเซีย และเวเนซุเอลาในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของรอยเตอร์พบว่า ประเทศทั้ง 3 แห่งมีสัดส่วนคิดเป็น 25% ของการนำเข้าน้ำมันดิบระหว่างเดือนม.ค.-ก.ย. เพิ่มขึ้นจากระดับราว 21% เมื่อปี 2565 และเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากราว 12% ในปี 2563 โดยแทนที่แหล่งนำเข้าทางเลือกอื่น ๆ จากตะวันออกกลาง แอฟริกาตะวันตก และอเมริกาใต้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 66)
Tags: จีน, น้ำมัน, นำเข้าน้ำมัน, พลังงาน