“ภูมิธรรม” ยัน ประชามติไม่ใช่ตรายาง ตอก “ก้าวไกล” ไม่ควรบีบให้รับข้อเสนอ

ภูมิธรรม เวชยชัย

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ตอบกระทู้ถามสดของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เกี่ยวกับการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีข้อสังเกตว่า การทำงานของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะทำให้เสียเวลา และเสียงบประมาณ เนื่องจากที่ผ่านมา มีผลการศึกษาและมีข้อสรุปร่วมกันว่า การทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องดำเนินการจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งประชาชน ดังนั้นจึงต้องเดินหน้าสู่การตั้งคำถามประชามติ การตั้งคณะกรรมการฯ เท่ากับการยืมมือคนอื่นเพื่อย้อนหลักการของตนเอง พร้อมขอคำยืนยันว่าคณะกรรมการฯ จะรับจุดยืนของพรรคก้าวไกลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกมาตรา และให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 100%

นายภูมิธรรม ชี้แจงว่า การตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมา เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ไม่มีปัญหา เพราะในการดำเนินการนั้น รัฐบาลไม่สามารถมีมติให้ทำประชามติได้ เพราะต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนการศึกษาในประเด็นการตั้งคำถามประชามติคือ กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลเห็นว่าต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจไม่ว่าวิธีใด เบื้องต้นยอมรับว่าจะพยายามทำในแนวทางของ ส.ส.ร.โดยนำความเห็นที่ศึกษาไว้ และพิจารณาความเห็นต่างด้วย

ในการทำงานของคณะกรรมการฯ ต้องรับฟังความเห็นประชาชนอย่างเต็มที่ เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จ และไม่ถูกตีตกไประหว่างทาง ขณะที่กรอบเวลาในการดำเนินการวางไว้ 4 ปี ซึ่งรวมถึงการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายใหม่

“ผมยอมรับว่า แม้การศึกษาแก้รัฐธรรมนูญจะมีหลายครั้งผ่านมา แต่มีรายละเอียดที่เห็นแย้งและแตกต่างกัน ดังนั้นในการทำงานต้องพยายามรับฟังความเห็นจากทุกพรรคการเมือง ตัวแทนกลุ่มประชาชน เครือข่ายสื่อมวลชน ผมเสียใจที่พรรคก้าวไกลไม่ร่วม ผมเคารพเหตุผล แต่จะไม่ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญสะดุด ซึ่งในอนาคต มีแผนว่าจะคุยกับพรรคก้าวไกลต่อไป” นายภูมิธรรม กล่าว

นายพริษฐ์ ยังได้ชี้แจงประเด็นที่พรรคก้าวไกลไม่ร่วมในคณะกรรมการฯ ว่า เพราะไม่ต้องการเป็นตรายาง แต่ยินดีให้ข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการฯ ตนเข้าใจในหลักการทำงานร่วมกัน แต่หากติดกระดุมเม็ดแรกผิด อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ ตนขอความชัดเจนด้วยว่า หากยืนยันว่าจะไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ทั้งที่มีประชาชนหรือบุคคลต้องการเสนอแก้ไขข้อความไม่กระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและรูปแบบของรัฐจะอธิบายอย่างไร และขอคำยืนยันว่าการยกร่างใหม่ทั้งหมด จะไม่ใช่การแก้ไขรายมาตรา ขณะที่การแก้ไข เช่น ระบบรัฐสภา สภาคู่ สภาเดี่ยว การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่ล็อควิธีการไว้

นายภูมิธรรม ชี้แจงว่า การตั้งคณะทำงานที่ดึงทุกภาคส่วน ตัวแทนวิชาชีพ ตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม เพื่อฟังความเห็นให้รอบด้าน คือ การติดกระดุมเม็ดแรกที่ถูกต้อง ซึ่งการทำงานได้วางกรอบไว้ 3 เดือน

“กรรมการชุดนี้ ผมรับรองด้วยเกียรติว่าจะไม่เป็นตรายาง และขอให้ท่านให้เกียรติคนที่เข้ามาทำงานในคณะกรรมการด้วย เพราะเป็นคนที่มีชื่อเสียง อดีตกรรมการการเลือกตั้ง คณบดี นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนวิชาชีพ ส่วนที่บอกให้รับรอง และยืนยันกับสิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอเท่านั้น ผมมองว่าไม่ควรเป็น เพราะการทำรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ต้องไม่อยู่ภายใต้ 2 ประเด็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น ซึ่งการคุยเพื่อทำความเข้าใจเป็นทางที่ดี เพื่อแก้ปัญหาประเทศไม่สร้างขัดแย้งใหม่ เพราะหากมีพรรคอื่นต้องการให้ยึดข้อเสนอด้วย จะเกิดความขัดแย้งได้ ดังนั้นหากจุดร่วมและผลักดันเป็นทางที่ดีเป็นกระดุมเม็ดแรก และต้องจบโดยรัฐธรรมนูญต้องผ่าน จะไม่เสนอเพื่อให้ตกไป” นายภูมิธรรม กล่าว

นายพริษฐ์ ชี้แจงว่า ข้อเสนอที่ให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ถือเป็นการเปิดให้ตัวแทนของทุกชุดความคิดมีส่วนร่วม ส่วนที่กังวลว่าจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญร่วม ตนมีข้อเสนอคือ ส.ส.ร.สามารถตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำแนะนำหรือยกร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่เมื่อดำเนินการแล้วต้องผ่านเห็นชอบจาก ส.ส.ร.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top