บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค (เทปโก้) เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิได้เริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลเป็นรอบที่ 2 ในวันนี้ (5 ต.ค.) หลังการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีรอบแรกได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและจีนคุกรุ่น
ทั้งนี้ เทปโก้กล่าวว่า ทางบริษัทมีแผนจะปล่อยน้ำปนเปื้อนราว 460 ตันต่อวันห่างจากชายฝั่งราว 1 กิโลเมตร ผ่านอุโมงค์ใต้น้ำภาย เป็นเวลาเกือบ 3 สัปดาห์
แผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนครั้งล่าสุดเป็นแผนการรอบที่ 2 จากทั้งหมด 4 รอบ โดยจะดำเนินแผนการทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในช่วงสิ้นเดือนมี.ค.ปีหน้า เพื่อปล่อยน้ำปริมาณราว 31,200 ตัน ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณทริเทียม (tritium) ประมาณ 5 ล้านล้านเบคเคอเรล (becquerel) ซึ่งต่ำกว่า 1 ใน 4 ของข้อจำกัดต่อปีที่ 22 ล้านล้านแบคเคอเรล
สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ได้ให้การรับรองความปลอดภัยของการปล่อยน้ำปนเปื้อนดังกล่าว โดยน้ำปนเปื้อนดังกล่าวนั้นผ่านกระบวนการบำบัดของเหลวขั้นสูงที่สามารถขจัดนิวไคลด์กัมมันตรังสี (radionuclide) ส่วนใหญ่ได้ ยกเว้นทริเทียม โดย IAEA กล่าวว่า แผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลกและมีผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม “เพียงเล็กน้อย”
ด้านจีนได้ประกาศคว่ำบาตรการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น หลังจากญี่ปุ่นเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนรอบแรก ซึ่งญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้จีนยกเลิกคำสั่งดังกล่าวและเข้าร่วมในการหารือตามหลักการทางวิทยาศาสตร์พร้อมกับผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง 2 ประเทศ ในขณะที่ช่วยเหลืออุตสาหกรรมการประมงในประเทศเพื่อบรรเทาผลกระทบ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 66)
Tags: ญี่ปุ่น, น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี, ฟุกุชิมะ ไดอิจิ, โรงไฟฟ้านิวเคลียร์