นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ. ทิสโก้ เปิดเผยว่า เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวให้กับลูกค้าที่อยู่ในระหว่างบริหารจัดการภาษีปลายปี บลจ.ทิสโก้ ได้เปิดเสนอขายกองทุนเปิด ทิสโก้ ยูเอส แนสแดค อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ (TNASDAQRMF-A) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) เน้นลงทุนใน Invesco QQQ Trust, Series 1 ที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี Nasdaq-100 ซึ่งเป็นดัชนีที่ประกอบด้วยบริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงที่สุด 100 อันดับแรกที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แนสแดค (Nasdaq) ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) 2-10 ตุลาคม 2566
“การลงทุนในดัชนี NASDAQ นั้น เหมาะสำหรับการลงทุนในระยะยาว หากพิจารณาการปรับเพิ่มขึ้นในอดีตพบว่า การซื้อเฉลี่ยตามดัชนีแบบรวมปันผล โดยลงทุนทุกๆ วันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี ตั้งแต่ปี 2556 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ดัชนีจะให้ผลตอบแทนรวมสะสมในช่วง 10 ปี ที่ 183.97% หรือ 10.99% ต่อปี ดัชนีจะให้ผลตอบแทนรวมสะสมในช่วง 5 ปี ที่ 62.99% หรือ 10.25% ต่อปี ดัชนีจะให้ผลตอบแทนรวมสะสมในช่วง 3 ปี ที่ 29.33% หรือ 8.95% ต่อปี จึงเหมาะที่จะลงทุนสำหรับกองทุน RMF ซึ่งสามารถลงทุนได้ในทุกๆ ปี ตอบโจทย์การลงทุนในระยะยาว เหมือนกับการลงทุนในรูปแบบ Dollar Cost Averaging (DCA)” นายสาห์รัชกล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนที่ต้องการบริหารจัดการภาษีช่วงปลายปี ในปีนี้ บลจ.ทิสโก้คัด 8 กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อเป็นทางเลือกให้นักลงทุนเลือกลงทุน ได้แก่ 1. TUSBOND-SSF 2. TSF-SSF 3. TISCOWB-SSF 4. TNASDAQ-SSF 5. TSFRMF-A 6. TVIETNAMRMF-A 7.TGHRMF-A และ 8. TTECHRMF-A
นายสาห์รัชกล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียดกองทุน SSF RMF แนะนำทั้ง 8 กองทุน มีดังนี้
1. กองทุนเปิด ทิสโก้ ตราสารหนี้สหรัฐ ชนิดหน่วยลงทุนเพื่อการออม (TUSBOND-SSF) ความเสี่ยงระดับ 4 (เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ) ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน JPMorgan Funds – US Aggregate Bond ชนิดหน่วยลงทุน C (acc) – USD ที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้
2. กองทุนเปิด ทิสโก้ สแตรทิจิก ฟันด์ ชนิดหน่วยลงทุนเพื่อการออม (TSF-SSF) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) ลงทุนในหุ้นไทยพื้นฐานดี ที่ผ่านการคัดสรรจากผู้จัดการกองทุน โดยใช้นโยบายการลงทุนแบบเชิงรุก
3. กองทุนเปิด ทิสโก้ หุ้นไทย Well-being ชนิดหน่วยลงทุนเพื่อการออม (TISCOWB-SSF) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) ลงทุนในหุ้นไทยใน 7 หมวดธุรกิจที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันที่อยู่ในดัชนี SETWB โดยการใช้นโยบายการลงทุนแบบเชิงรุก
4. กองทุนเปิด ทิสโก้ ยูเอส แนสแดค อิควิตี้ ชนิดหน่วยลงทุนเพื่อการออม (TNASDAQ-SSF) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Invesco QQQ Trust, Series 1 ซึ่งเป็นกองทุนรวมอีทีเอฟ ที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แนสแดค (Nasdaq) ประเทศสหรัฐอเมริกา
5. กองทุนเปิด ทิสโก้ สแตรทิจิก เพื่อการเลี้ยงชีพ ชนิดผู้ลงทุนทั่วไป (TSFRMF-A) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) ลงทุนในหุ้นไทย ผ่านกองทุน TSF-A (กองทุนหลัก) ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทยพื้นฐานดีที่ผ่านการคัดสรรจากผู้จัดการกองทุน โดยใช้นโยบายการลงทุนแบบเชิงรุก
6. กองทุนเปิด ทิสโก้ เวียดนาม อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ (TVIETNAMRMF-A) ความเสี่ยงระดับ 6 (เสี่ยงสูง) ลงทุนในกองทุนรวม/ETF ที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นเวียดนาม ดำเนินธุรกิจหลักหรือมีรายได้หลักจากประเทศเวียดนาม
7. กองทุนเปิด ทิสโก้ โกลบอล เฮลธ์แคร์ เพื่อการเลี้ยงชีพ ชนิดผู้ลงทุนทั่วไป (TGHRMF-A) ความเสี่ยงระดับ 7 (เสี่ยงสูง) ลงทุนในหน่วยลงทุนกองทุนรวมและ/หรือ ETF ที่เน้นลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม Healthcare ทั่วโลก
และ 8. กองทุนเปิด ทิสโก้ เทคโนโลยี อิควิตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ ชนิดผู้ลงทุนทั่วไป (TTECHRMF-A) ความเสี่ยงระดับ 7 (เสี่ยงสูง) ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน iShares Expanded Tech Sector ETF ที่ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม Technology
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ต.ค. 66)
Tags: RMF, กองทุนเปิด, บลจ.ทิสโก้, สาห์รัช ชัฏสุวรรณ