นายกฯ ขอทุกคนร่วมแก้วิกฤติประเทศ คลี่คลายความขัดแย้ง เดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “Next Chapter ประเทศไทย” ว่า ปัญหาของประเทศในปัจจุบันไม่ได้มีเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความแตกแยก ความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และอาจเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมดก็ได้ เป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาที่หมักหมมมานาน แต่เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก ที่ผ่านมาอาจมีการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ซึ่งรัฐบาลจะเริ่มต้นด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันโดยสันติ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาเมื่อมีความเห็นต่างก็จะใช้ถ้อยคำที่รุนแรงเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางโซเชียล ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลึก สังคมเกิดความแตกแยก มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก สร้างความขัดแย้ง เช่น ใช้คำว่า ปฏิรูป ล้างบาง สังคายนา ซึ่งไม่น่าจะใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เพราะทุกสังคมมีคนดีและคนไม่ดี

ส่วนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลพยายามที่ออกมาตรการต่างๆ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต ขึ้นค่าแรง พักหนี้ ไม่ว่าจะถูกเรียกว่านโยบายประชานิยมหรือนโยบายหาเสียงก็ตาม เพราะยังมีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเริ่มจากปรับลดค่าไฟฟ้า พักหนี้เกษตรกร เพื่อสร้างขวัญและกำลังให้ทำงานต่อไป การพัฒนาภาคเกษตรกรรมนั้นรัฐบาลมีแนวคิดใช้ “การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยมุ่งเปิดตลาดตะวันออกกลางที่ยังมีจุดบอดเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งจะช่วยให้ภาคเกษตรกรรมมีรายได้ที่มั่นคง ทำให้การพักหนี้น้อยลง รัฐบาลไม่ต้องการที่จะดำเนินโครงการรับจำนำหรือประกันรายได้สินค้าเกษตร ยกเว้นเกิดภัยพิบัติรุนแรง

“รัฐบาลนี้มาเพื่อเพื่อประชาชน อะไรที่เราทำได้เราทำก่อน ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ไตร่ตรอง ให้ความมั่นใจ ให้ความสบายใจ ถ้าทำได้จะทำต่อไปอีก” นายเศรษฐา กล่าว

ส่วนการเดินทางไปร่วมประชุม UNGA ได้ไปประกาศเปิดประเทศรับการค้าการลงทุนจากทุกประเทศมากขึ้น เนื่องจากยังเสียเปรียบคู่แข่งอยู่ โดยได้พบกับผู้บริหารไมโครซอฟท์ กูเกิ้ล เทสล่า ซึ่งหากตกลงกันได้จะมีการลงทุนไม่ต่ำกว่ารายละ 5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีความคาดหวังสูง และจะมีการประสานต่อเนื่อง โดยจะไปหารือต่อในช่วงการประชุมเอเปคที่ซานฟรานซิสโกในเดือน พ.ย.66 เพราะเราไม่สามารถพึ่งพาการเติบโตภาคเกษตรกรรมได้เพียงอย่างเดียว

ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้นจะมีการขยายสนามบินเพิ่มเติม เช่น สนามบินอันดามัน สนามบินล้านนา เพื่อกระจายความเจริญไปยังภูมิภาคอื่นๆ ไม่ใช่แค่เมืองหลัก เพราะการดึงดูดนักท่องเที่ยวไม่ใช่เรื่องจำนวน แต่ต้องเพิ่มการใช้จ่ายและเวลาพักให้นานขึ้น

ขณะเดียวกันรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศเท่านั้น ยังให้ความสนใจที่จะไปเยี่ยมประชาชนในแต่ละจังหวัดด้วย โดยเฉพาะการดูแลเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่าลงทุนโครงการไฮสปีดเทรน

ส่วนปัญหาภูมิรัฐศาสตร์นั้น ประเทศไทยมีความเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง เพื่อความสงบสุขที่ยั่งยืน เพราะเรามีความได้เปรียบในเรื่องภูมิศาสตร์ ซึ่งรัฐบาลจะพยายามดูแลเรื่องนี้ให้เกิดสมดุลมากที่สุด และไม่ลืมประเทศญี่ปุ่นที่เป็นต้นน้ำของการลงทุนมานาน ซึ่งขณะนี้มีความเป็นห่วงเรื่องการลงทุนรถ EV ตนจะเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในเดือน ธ.ค.นี้เพื่อยืนยันถึงความสัมพันธ์อันดีที่มีตลอดมา และยังคงดูแลเรื่องรถยนต์สันดาปต่อไปอีก 10-15 ปี ซึ่งจะได้หารือกับสมาคมยานยนต์เรื่องการให้สิทธิประโยชน์เพื่อสร้างแรงจูงใจ

“รัฐบาลคงทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ อะไรที่รัฐบาลสามารถช่วยได้ก็พร้อมสนับสนุน…ทุกคนมีส่วนที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา หากจะให้รัฐบาลออกคำสั่งแก้ปัญหา ปัญหาก็คงไม่ได้รับการแก้ไข แต่การแก้ไขจะมาจากจิตใต้สำนึกของทุกคน โดยขอให้ทุกเสนอความคิดเห็นในเชิงบวก” นายเศรษฐา กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top