พาณิชย์ ชี้แม้ภัยแล้งกระทบเงินเฟ้อไม่มาก แต่ต้องจับตาอีกหลายปัจจัยเสี่ยง

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น ตั้งแต่ช่วงปลายปี 66 จนถึงช่วงฤดูร้อนปี 67 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก ที่มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์

โดยขนาดของผลกระทบ ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะต้นทุนการผลิต ปริมาณ และราคาในตลาดโลก ที่จะผลักดันให้ราคาสินค้าในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่มาตรการภาครัฐ จะเป็นปัจจัยทอนสำคัญที่ทำให้ราคาสูงขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ออกมาตรการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

สำหรับประเทศไทย ได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ตั้งแต่ช่วงเดือนมิ.ย. 66 ซึ่งส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งและมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าผลกระทบจากภัยแล้งจะชัดเจนขึ้น ในช่วงปลายฤดูฝนของปี 66 ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงฤดูร้อนของปี 67 และจะส่งผลต่อปริมาณและราคาอาหารในระยะต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั้งประเทศ ของปี 66 พบว่า ปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 607.50 มิลลิเมตร น้อยกว่าค่าปกติ 32.91% (ค่าปกติ 905.52 มิลลิเมตร) โดยภาคกลางมีปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุดที่ 338.20 มิลลิเมตร น้อยกว่าค่าปกติ 49.74% (ค่าปกติ 672.89 มิลลิเมตร)

ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อน 41,734 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 59% ของปริมาณความจุน้ำเก็บกักทั้งหมด และปริมาณน้ำใช้การอยู่ที่ 18,197 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 38% ของปริมาณความจุน้ำใช้การทั้งหมด ซึ่งภาคกลางมีปริมาณน้ำน้อยที่สุด และอยู่ในระดับน้อยวิกฤต ขณะที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออก ปริมาณน้ำอยู่ในระดับน้อย

สำหรับสินค้าในตระกร้าเงินเฟ้อที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง จะเป็นสินค้ากลุ่มอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ ซึ่งมีสัดส่วนค่อนข้างมากประมาณ 41.34% ของตระกร้าเงินเฟ้อ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผักสด ผลไม้สด ข้าว ไข่ ปลาและสัตว์น้ำ ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง

ทั้งนี้ เมื่อนำไปทดสอบความสัมพันธ์ร่วมกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง (ข้อมูลปี 51-65) พบว่า มีความสัมพันธ์กันในทิศทางตรงข้าม โดยเฉพาะผักสด ข้าว ไข่ ปลาและสัตว์น้ำ แต่ขนาดของความสัมพันธ์ไม่มากนัก กล่าวคือ หากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลง 1% จะส่งผลให้ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 0.0004%

อย่างไรก็ดี สาเหตุที่ขนาดความสัมพันธ์มีไม่มากนัก เนื่องจากยังมีอีกหลายปัจจัยที่กระทบต่อราคาสินค้าดังกล่าว อาทิ

– มาตรการภาครัฐ ซึ่งจะมีการกำกับดูแลราคาสินค้าในกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และทำให้ราคาไม่เป็นไปตามกลไกของตลาดเท่าที่ควร

– การบริหารจัดการน้ำ ถึงแม้ว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่หากมีระบบชลประทานและการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผลผลิตทางการเกษตรได้

– ค่าขนส่ง และต้นทุนการผลิตอื่นๆ อาทิ ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่าปุ๋ย และค่าอาหารสัตว์ หากอยู่ในระดับสูง จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นได้

– ความต้องการของตลาด หากมีความต้องการซื้อสินค้ามากในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง จนเกิดความไม่สมดุลกับปริมาณสินค้า ราคาสินค้าจะสูงขึ้น

– การนำเข้าและส่งออกสินค้า ถึงแม้สินค้าในประเทศจะขาดแคลน แต่หากมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการ จะส่งผลให้ราคาสินค้าไม่สูงมากนัก ในทางกลับกันหากมีการส่งออกสินค้าค่อนข้างมาก อาจทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นได้

– ปริมาณและราคาสินค้าในตลาดโลก เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงทำให้ราคาอ้างอิงตามราคาตลาดโลก อาทิ ข้าว ปาล์มน้ำมัน และน้ำตาล

อย่างไรก็ดี หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เป็นแหล่งผลิตสินค้ากลุ่มอาหารที่สำคัญ ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญเช่นเดียวกัน อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย จีนตอนล่าง และออสเตรเลีย ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตของโลก ประกอบกับความกังวลต่อการขาดแคลนอาหาร จึงทำให้หลายประเทศมีมาตรการจำกัดการส่งออก ส่งผลให้อุปทานสินค้าอาหารโลกยิ่งตึงตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มข้าว ปาล์มน้ำมัน และน้ำตาล

สำหรับประเทศไทยยังไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากเป็นประเทศที่ผลิตสินค้ากลุ่มอาหารอยู่แล้ว และปริมาณที่ผลิตได้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ แต่หากภัยแล้งมีความรุนแรงมาก อาจจะกระทบต่อราคาสินค้าในประเทศและปริมาณการส่งออก โดยเฉพาะภูมิภาคที่มีปริมาณน้ำน้อยวิกฤตและน้ำน้อย ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก ซึ่งมีสินค้าเกษตรที่ผลิตมากในพื้นที่ ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวนาปรัง อ้อย ลำไย ทุเรียน ไข่ไก่ และกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง ที่อาจต้องติดตามสถานการณ์เป็นพิเศษ ซึ่งภาครัฐอาจออกมาตรการช่วยเหลือด้านอื่นๆ ต่อไป

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้ง เป็นปัจจัยภายนอกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และยากที่จะรับมือ เนื่องจากผลกระทบกระจายตัวเป็นวงกว้าง ทำให้การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยหลักสำคัญจะต้องมีการบริหารจัดการน้ำ และพื้นที่เพาะปลูกอย่างเหมาะสม ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่างให้ความสำคัญในประเด็นนี้ และคงมีการเตรียมการแล้วในระดับหนึ่ง

สำหรับกระทรวงพาณิชย์ มองว่า ภัยแล้งจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรลดลง และส่งผลมายังราคาอาหารในลำดับต่อไป แต่ระดับความรุนแรงจะมากน้อยเพียงใดนั้น คงต้องรอความชัดเจนของสถานการณ์อีกครั้ง โดยกระทรวงพาณิชย์มีการตั้งวอร์รูมเพื่อรับมือกับผลกระทบ และมีการประชุมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง หากผลกระทบมีความรุนแรง จะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร และผู้บริโภคในระยะต่อไป ซึ่งต้องมีการพิจารณาถึงผลกระทบของมาตรการต่อทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคอย่างรอบด้าน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ย. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top