นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติและกำหนดแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลว่า หลักการในเรื่องของการไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 เป็นเรื่องที่ทั้งตนและพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุน แต่ที่ต้องทักท้วง คือ หลักคิดที่รัฐบาลจะใช้รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นต้นแบบนั้น ขอให้คิดให้รอบคอบ เพราะรัฐธรรมนูญปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไป จนบางยุคทำให้การตรวจสอบรัฐบาลโดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีทำได้ยากมาก จนทำให้ไม่สามารถตรวจสอบหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้
เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 40 ระบุว่าจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ ฝ่ายค้านต้องมีเสียงเกินกว่า 200 เสียง หรือ 2 ใน 5 ขึ้นไปเท่านั้น ทำให้บางยุคไม่สามารถตรวจสอบนายกรัฐมนตรีได้เลยตลอดอายุรัฐบาล ถ้านายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาลด้วยเสียงเกินกว่า 3 ใน 5 คือ เกินกว่า 300 เสียงขึ้นไป ซึ่งนำไปสู่การมี “รัฐบาลกินรวบ” ดังที่เคยประสบในบางยุค เพราะนายกรัฐมนตรีอาศัยช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญ ตั้งรัฐบาลเกิน 300 เสียง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบตั้งแต่ต้น อีกทั้งรัฐธรรมนูญ ปี 40 ยังให้อำนาจฝ่ายบริหารเข้าไปมีบทบาทในการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระต่าง ๆ จนนำไปสู่การใช้ช่องว่างของรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของฝ่ายบริหาร จนในที่สุดต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 50
“ถ้าใช้รัฐธรรมนูญปี 40 มาสวมในสถานการณ์ปัจจุบัน การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเศรษฐา จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะรัฐบาลมีเสียงเกิน 3 ใน 5 นั่นคือมีถึง 314 เสียง ฝ่ายค้านมีไม่ถึง 200 เสียง…ถ้านายกรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินผิดพลาด ล้มเหลวและเกิดการทุจริตคอรัปชันขึ้นในอนาคต จะเท่ากับพาประเทศย้อนยุคกลับไปสู่ปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตได้อีก จึงควรคิดกันให้รอบคอบ” นายจุรินทร์ กล่าว
พร้อมยืนยันว่า ที่พูดเรื่องนี้ไม่ได้แปลว่าจะตั้งธงอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ขอพูดเลยว่าไม่เกี่ยวกัน และยังไม่ใช่เวลา เพราะรัฐบาลเพิ่งเริ่มต้น แต่ตนเพียงต้องการทักท้วงไว้ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกติกาสำคัญของประเทศ และหากแก้แล้วต้องใช้ต่อไปในอนาคต จะได้ไม่พาประเทศย้อนยุคกลับไปสู่ปัญหาที่เคยเกิดในอดีตที่เราไม่อยากเห็นอีก
ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจนว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พรรคพร้อมให้การสนับสนุน แต่จะต้องไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 ที่สำคัญการนำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบในการดำเนินการในขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ประสบผลสำเร็จได้
พร้อมมองว่า การตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติของรัฐบาล โดยหลักถือว่าเป็นจุดตั้งต้นที่ดี แต่ก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความตั้งใจจริง โดยจะต้องไม่มีการพิจารณาที่ล่าช้าเกินสมควร ไม่ควรตั้งท่านานจนเกินไป และการเตรียมการเพื่อจะนำไปสู่การจัดทำประชามติมีความจำเป็นที่จะต้องให้มีความละเอียดรอบคอบ รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
นายราเมศ กล่าวด้วยว่า สำหรับการยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในสภาชุดที่ผ่านมา ได้มีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ โดยพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย
- ร่างฉบับที่ 1 เป็นการเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่เรื่องเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บรรจุเรื่องสิทธิของประชาชนลดน้อยถอยลงไปอย่างมาก
- ร่างฉบับที่ 2 ตัดอำนาจ สว.ในการแก้รัฐธรรมนูญ
- ร่างฉบับที่ 3 เพิ่มความเข้มข้นในกระบวนการตรวจสอบการทุจริต
- ร่างฉบับที่ 4 แก้ไขที่มาของนายกรัฐมนตรี และยกเลิกอำนาจ สว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี
- ร่างฉบับที่ 5 เรื่องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองแรกที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพื่อทำให้ท้องถิ่นดีขึ้น
- ร่างฉบับที่ 6 แก้ไขระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นร่างเดียวที่ผ่านความเห็นชอบการพิจารณาจากรัฐสภา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ย. 66)
Tags: จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ราเมศ รัตนะเชวง