นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าปศุสัตว์ของไทยในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค. 66) พบว่า มีมูลค่าส่งออกรวม 2,654.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 5.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า
สำหรับสินค้าปศุสัตว์ส่งออกที่สำคัญของไทย คือ เนื้อไก่ทั้งแช่แข็ง และแปรรูป มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 2,322.04 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.44% คิดเป็นสัดส่วนถึง 87.47% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ทั้งหมดของไทย
ทั้งนี้ หากพิจารณาการนำเข้าเนื้อไก่ฯ ของโลก ในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 66 พบว่า ไทยมีส่วนแบ่งตลาดโลกอยู่ที่ 12.06% (จากเดิมส่วนแบ่ง 11.23%) นอกจากนี้ ในส่วนของไข่ไก่สดมีมูลค่าการส่งออก 36.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวถึง 151.36%
จากแดชบอร์ดวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics Dashboard) “ไก่เนื้อ” ของเว็บไซต์ คิดค้า.com พบว่า ในช่วง 7 เดือนแรก มูลค่าการส่งออกไก่เนื้อและผลิตภัณฑ์ของไทย เพิ่มขึ้น 3.44% มูลค่าการส่งออกไก่เนื้อทั้งตัว สด แช่เย็นหรือแช่แข็ง เพิ่มขึ้น 255.41% และมูลค่าการส่งออกชิ้นเนื้อและส่วนอื่นๆ สด แช่เย็น หรือแช่เย็นจนแข็ง เพิ่มขึ้น 32.71% และมูลค่าการส่งออกเนื้อไก่ตัดขนาดเท่าลูกเต๋าแช่แข็งแห้ง (ฟรีซไดรด์) เพิ่มขึ้น 7.01% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ส่วนมูลค่าการส่งออกเนื้อไก่ปรุงแต่ง ลดลงเล็กน้อยที่ -6.79%
ตลาดส่งออกสำคัญของไทยสำหรับสินค้าไก่ คือ ญี่ปุ่น มีสัดส่วน 40.95% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าไก่จากไทยไปโลก (และไทยมีส่วนแบ่งตลาด 51.90% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าดังกล่าวทั้งหมดของญี่ปุ่น)
ส่วนตลาดส่งออกที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ สหราชอาณาจักร (สัดส่วน 17.26%) สาธารณรัฐประชาชนจีน (สัดส่วน 12.33%) เนเธอร์แลนด์ (สัดส่วน 8.39%) เกาหลี (สัดส่วน 5.04%) มาเลเซีย (สัดส่วน 4.94%) และประเทศอื่นๆ อาทิ สิงคโปร์ ไอร์แลนด์ เยอรมนี แคนาดา และฝรั่งเศส ฯลฯ (สัดส่วน 11.09%)
ทั้งนี้ จากการประเมินช่องว่างโอกาสการขยายมูลค่าการส่งออกของไทย (Potential GAP Analysis) โดยพิจารณาจากประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าไก่สูง แต่ไทยยังมีส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่าค่าเฉลี่ยส่วนแบ่งตลาดของไทยในโลก พบว่าประเทศที่ไทยยังมีช่องว่างในการขยายมูลค่าการส่งออก 3 อันดับแรก คือ ฝรั่งเศส เยอรมนี และซาอุดีอาระเบีย มีส่วนต่างเป้าหมายการส่งออกอยู่ที่ 94.51, 76.50 และ 57.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ตลาดอียูมีแนวโน้มบริโภคไก่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสรักสุขภาพ และโครงสร้างประชากรในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเนื้อไก่เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพชั้นดี ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ จึงมีความต้องการบริโภคมากขึ้น
ส่วนประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง มีประชากรมากถึง 35.6 ล้านคน และมีสัดส่วนการนำเข้าอาหารสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่จากทั่วโลก เฉลี่ยปีละ 6.5 แสนตัน ซึ่งส่วนแบ่งตลาดของไทยในตลาดดังกล่าวยังถือว่าไม่มากนัก แต่ทั้ง 3 ประเทศ เป็นตลาดศักยภาพที่มีมูลค่านำเข้าสูง จึงเป็นโอกาสที่ไทยควรเร่งขยายการส่งออกไปยังตลาดเป้าหมายเหล่านี้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต และอุปทานในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่กลับมาตึงเครียดขึ้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ในประเทศบราซิล
จากรายงานล่าสุดของ United States Department of Agriculture (USDA) ระบุว่า ยังไม่มีการรายงานการแพร่ระบาดในวงกว้าง หรือเรื่องของสถานการณ์ภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ สถานการณ์เอลนีโญ ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์
อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก แต่ก็ยังมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของการส่งออกสินค้าดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการประกาศลดระดับการจัดการโรคโควิด-19 ของจีน ซึ่งทำให้จีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมการนำเข้า และจะมีการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตและแปรรูปไก่แช่แข็งของไทย ที่สามารถส่งออกไปจีนได้เพิ่มเติม (ปัจจุบันมี 20 โรงงาน ที่สามารถส่งออกไปจีนได้)
ขณะเดียวกัน แนวโน้มความต้องการบริโภคไก่เนื้อที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก จากราคาที่ต่ำกว่าราคาเนื้อสัตว์ประเภทอื่น กระแสรักสุขภาพ ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ทั้งที่บรรลุข้อตกลงแล้ว และมีแผนที่จะเจรจา ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและขยายตลาดใหม่ๆ ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ย. 66)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์, ส่งออก, สนค., สินค้าปศุสัตว์, เนื้อไก่