นายทนง พิทยะ ประธานกรรมการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) และอดีต รมว.คลัง เปิดเผยในงานเสวนาหัวข้อ “Transform Thailand…สิ่งที่เห็น อยากให้ประเทศไทยเป็น?” ว่า รัฐบาลใหม่ในสายตาคนไทยและต่างชาติ คือ รัฐบาลพันธุ์ผสม ซึ่งเป็นครั้งแรกของไทยที่ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายค้านและรัฐบาลมาฟอร์มรัฐบาลร่วมกัน ทำให้ประชาชนเกิดความมึนงง ขณะเดียวกัน ต่างชาติก็ไม่เข้าใจกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยแบบไทย ทำให้ไทยยังไม่เป็นทางเลือกเพื่อการลงทุนที่น่าสนใจ
“จากการฟังแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในช่วงแรกๆ มีการระบุปัญหา แต่ในส่วนของการแก้ปัญหายังไม่เห็นคีย์เวิร์ด หรือนโยบายที่แท้จริง ซึ่งก็น่าเห็นใจเพราะไทยมีปัญหาจำนวนมาก ที่เห็นกลยุทธ์ชัดเจนคือดิจิทัลวอลเล็ต แต่ก็ยังไม่มีรายละเอียดว่าใช้อย่างไร” นายทนง กล่าว
ส่วนวันนี้ประเทศไทยจะ Transform อย่างไรต่อไปนั้น ท่ามกลางความท้าทายของนโยบายเศรษฐกิจเพื่อคนจน และจากผลพวงของนโยบายประชานิยม ที่ทำให้ประชาชนรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลมากเกินไป มองว่าควรมีการขับเคลื่อนจากกองทุนหมู่บ้านสู่ Digital Bank เปลี่ยนงบที่จะใช้ทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการนำเงินไปใส่ในกองทุนหมู่บ้านละ 6 ล้านบาทแทน ซึ่งจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบไม่หมดไป และสามารถช่วยเศรษฐกิจได้จริง แต่หากนำเงินไปแจกประชาชน สุดท้ายเงินก็จะกลับไปตกอยู่ในมือคนรวยเช่นเดิม
นอกจากนี้ รัฐบาลยังควรสร้าง Digital Platform สำหรับสินค้า OTOP เพื่อให้ร้านค้าเกิดการแข่งขันกันเอง ซึ่งในส่วนนี้ใช้งบประมาณน้อย แต่เกิดประโยชน์มาก อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังต้องพบเจอกับความยากของการปฏิรูปภาคเกษตรกรรม เนื่องจากการเติบโตภาคการเกษตรมีจุดจำกัด โตได้ไม่เกิน 3%
อีกหนึ่งปัญหา คือ SMEs ไทยถูกกระทบโดยคนจีน จากการขยายธุรกิจของคนจีนระลอกใหม่ในประเทศไทย รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล ที่ธุรกิจคนกลางกำลังค่อยๆ หายไปเปลี่ยนเป็นออนไลน์แพลตฟอร์ม นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการอยู่รอดของโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลางเพื่อผลิต Intermediate products และความกังวลถึงโอกาสรอดของอุตสาหกรรมอาหารและการบริการสำหรับ SMEs ด้วย
ในส่วนของภาคการค้าและอุตสาหกรรมของไทย มีปัญหาหลายในหลายประเด็น อาทิ นโยบายการค้าเสรีที่เริ่มไม่ช่วยการค้าระหว่างประเทศ, การขาดสมรรถนะการแข่งขันกับประเทศคู่ค้าในเอเชีย, เศรษฐกิจมีความพอเพียงมีเสถียรภาพ แต่เติบโตน้อย, ระบบภาษีและกฎระเบียบไม่จูงใจนักบริหารมืออาชีพ และการขาดนโยบายการกำจัดคอร์รัปชันและส่งเสริมกลไกตลาด
ส่วนนโยบายเศรษฐกิจเพื่อภาคบริการ เนื่องจากการบริการคือรายได้สำคัญที่สุดของคนรุ่นใหม่ ด้วยสัดส่วนถึง 60% ของ GDP ดังนั้น รัฐบาลควรลดการกระจุกตัวในกรุงเทพ ด้วยการสร้าง Exhibition and Conference Centers ในภูมิภาค รวมถึงระบบการท่องเที่ยวด้วยความสะดวกและความปลอดภัยตลอดการเดินทาง
นายทนง กล่าวว่า ด้านนโยบายการเงินการคลัง จะต้องมีการนำ Digital Technology มาใช้กับนโยบายการเงินการคลัง รักษาวินัยทางการคลัง และโครงสร้างภาษีที่เอื้อต่อการเพิ่มผลผลิต
“ข้อสรุปความหวังกับความเป็นจริง คือ การเมืองพัฒนาใกล้จบแล้ว รออีกเพียง 4 ปี การคอร์รัปชันในระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำโดยผู้มีอิทธิพลกำลังจะหมดไป ความยุติธรรมและความเป็นธรรมอยู่ใกล้แค่แค่เอื้อม มองว่าโอกาสของประเทศไทยมาถึงแล้ว” นายทนง กล่าว
นายฟูอาตี้ พิศสุวรรณ ประธานมูลนิธิสุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวว่า ภาพที่อยากเห็นในอนาคต คือ อยากให้ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการต่างประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ส่งผลให้ปุ๋ยราคาแพง, ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ทำให้น้ำมันแพง, ปัญหาในพม่า ทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฝุ่นควัน และผู้อพยพเข้าไทย
ขณะเดียวกัน ยังมีการ Decoupling ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีราคาสูงขึ้นและอาจขาดแคลน นอกจากนี้ ยังมีสงครามระหว่างจีน กับไต้หวันด้วย
ส่วนประเทศไทยจะอยู่อย่างไรในสถานการณ์ระดับโลกที่มีความตึงเครียดในปัจจุบัน ไทยมีเครื่องมือดำเนินการ (Foreign Policy Tools) 2 อย่าง คือ 1. Hard Power คืออาวุธทางเศรษฐกิจ และกองทัพ และ 2. Soft Power คือพลังในการดึงดูด (Attraction) และพลังในการโน้มน้าว (Persuasion)
นายฟูอาตี้ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นประเทศไทยในอนาคต คือ การต่างประเทศที่อยู่บนพื้นฐานความชอบธรรมทางการเมือง และสภาวะเศรษฐกิจที่ดีพอที่จะต่อยอด ดังนี้
1. ประเทศไทยที่มองตัวเองเป็น “Middle Power” เพื่อกำหนดทิศทางความเป็นไปของการเมืองโลก โดยขณะนี้ไทยมองตัวเองเป็น Small Power เนื่องจากในอดีตมีชนักติดหลังมานาน และมีคำถามเรื่องความชอบธรรมทางการเมือง ประกอบกับเศรษฐกิจที่ไม่ได้ดึงดูด ประกอบกับปัจจุบัน ไทยยังคงทำการทูตแบบไผ่ลู่ลม (Bamboo Diplomacy) เพราะไม่คิดว่าตนจะมีส่วนในการกำหนดทิศทางลมของโลกได้
2. ประเทศไทยที่มองเห็นโอกาสในปัญหาเมียนมา เรื่องความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหมุดสำคัญที่ไทยควรใช้มุมมองทางเศรษฐกิจ เป็นส่วนช่วยในแก้ปัญหามนุษยธรรม อาทิ การมอบใบอนุญาตแก่แพทย์ และพยาบาลชาวพม่า ในจ.ตาก และจ.แม่ฮ่องสอน
3. ประเทศไทยที่มีกองทัพที่มีบทบาทต่อสังคมนานาชาติ ซึ่งหากไทยทำได้ จะเป็นสัญญาณสำคัญของการกลับมาอยู่บนเวทีโลก ซึ่งจำเป็นต้องสร้าง international linkages สำหรับกองทัพ เพื่อไม่ให้หมกมุ่นกับการเมืองภายในประเทศมากเกินไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ย. 66)
Tags: กองทุนหมู่บ้าน, ดิจิทัลวอลเล็ต, ทนง พิทยะ