กอนช. เร่งกักเก็บน้ำฝนเข้าเขื่อน สงวนน้ำให้พอใช้ฤดูแล้ง รับเอลนิโญ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 ส.ค.-5 ก.ย.66) มีปริมาณฝนตกมาก โดยมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 711 มิลลิเมตรในพื้นที่ อ.เขาสมิง จ.ตราด ซึ่ง กอนช.ได้ประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้าเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตาม และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

โดยมีพื้นที่ประสบอุทกภัยในลักษณะของน้ำท่วมฉับพลันรวม 17 จังหวัด ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายกลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว 16 จังหวัด เหลือเพียง จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือ คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้ โดย กอนช.จะมีการติดตามประเมินสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยเป็นประจำทุกวัน เพื่อเตรียมออกประกาศแจ้งเตือน ซึ่งจะช่วยป้องกัน และบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนในทุกพื้นที่

นายสุรสีห์ กล่าวว่า แม้ปริมาณฝนตกที่เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ แต่ส่งผลดีเรื่องการเติมน้ำต้นทุนให้แก่แหล่งน้ำต่างๆ เนื่องจากปัจจุบัน ภาพรวมฝนของประเทศยังคงต่ำกว่าค่าปกติอยู่ 18% มีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ 44,638 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 54% ของความจุ ซึ่งลดลงจากต้นฤดูฝน 1,547 ล้าน ลบ.ม. หรือลดลง 2% จากผลกระทบของสภาวะเอลนีโญ ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำในการช่วยเหลือการเพาะปลูกของเกษตรกร จนกว่าจะถึงช่วงเก็บเกี่ยว โดยในจำนวนนี้ เป็นน้ำใช้การเพียง 20,527 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 35% โดยมีอ่างฯ ใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อยถึง 11 แห่ง

ทั้งนี้ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ใหญ่ทั้งประเทศ สะสม 1,201 ล้าน ลบ.ม. และเนื่องจากปัจจุบันยังคงมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น จึงคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณชายขอบและตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมถึงภาคกลางที่ปัจจุบันยังคงมีฝนน้อยมาก และคาดว่าจะมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ ใหญ่ในสัปดาห์หน้าเพิ่มอีก 3,205 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะต้องกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด

จัดหาอาชีพทดแทนในพื้นที่ควบคุมการปลูกข้าวนาปี

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้มีการประชุมหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางการส่งเสริมอาชีพทดแทนในพื้นที่ควบคุมไม่ให้มีการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง ทั้งการสนับสนุนอาชีพหัตถกรรม OTOP การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ โคก หนอง นา การส่งเสริมอาชีพ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว การพักหนี้ การเพิ่มแหล่งน้ำผิวดินและใต้ดิน การจ้างแรงงาน การแจกภาชนะเก็บน้ำเพื่อกระจายความเสี่ยงในระดับครัวเรือน โดยจะมีการจัดทำเมนูอาชีพทางเลือกต่างๆ รวมทั้งแผนงาน โครงการ และงบประมาณ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการควบคุมการเพาะปลูก เพื่อสงวนปริมาณน้ำไว้ให้เพียงพอสำหรับฤดูแล้งที่จะมาถึง ซึ่งจะยังคงอยู่ในสภาวะเอลนีโญอย่างต่อเนื่อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ย. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top