Krungthai COMPASS ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ 2.50% ภายในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งจะเป็นระดับ neutral rate ที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวมีแนวโน้มสูงขึ้น หลังจากผลของฐานสูงทยอยหมดลง และอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง จากปรากฎการณ์เอลนีโญที่มีแนวโน้มรุนแรง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตร ราคาอาหาร และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะราคาน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์
“อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% จะเป็นระดับ neutral rate ที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในระยะยาวเป็นบวก อีกทั้งเพื่อเพิ่มความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า” บทวิเคราะห์ ระบุ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค.ขยายตัว 0.88%YoY เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.38%YoY และสูงกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 0.61% จากหมวดพลังงานที่พลิกกลับมาขยายตัว 2.58%YoY จากเดือน ก.ค. ที่หดตัว -3.12%YoY ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน
ขณะที่ราคาหมวดอาหารสดทรงตัว 0%YoY จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 1.37%YoY จากราคาเนื้อสุกรที่ปรับลดลงต่อเนื่อง แต่ราคาข้าวสารปรับเพิ่มขึ้น จากผู้ประกอบการเร่งซื้อเพื่อจัดเก็บในสต็อกตามความกังวลต่อปรากฎการณ์เอลนีโญ รวมทั้งราคาไข่ไก่ ผักและผลไม้ ปรับสูงขึ้น
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ขยายตัว 0.79%YoY ชะลอลงเทียบกับ 0.86%YoY ในเดือนก่อน จากราคาเครื่องประกอบอาหารที่หดตัวตามราคาน้ำมันพืชที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ราคาสินค้าบางรายการขยายตัว ได้แก่ ค่าโดยสารสาธารณะ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อุปกรณ์ซักล้างทำความสะอาด เป็นต้น
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 8 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ส.ค.) อยู่ที่ 2.01% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.61%
พร้อมกันนี้ ต้องจับตาอินเดียเตรียมระงับการส่งออกน้ำตาล ซึ่งอาจกดดันเงินเฟ้อหมวดอาหารในระยะข้างหน้า เนื่องจากอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล เตรียมระงับการส่งออกน้ำตาล ซึ่งจะมีผลในเดือนตุลาคม 2566 จากภาวะภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตน้ำตาลลดลง และเพื่อลดผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อด้านอาหารภายในประเทศที่เร่งสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
อีกทั้งภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในไทย จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตน้ำตาลของไทยในปี 2567 เช่นกัน คาดว่าราคาน้ำตาลที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหาร และอาจทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ย. 66)
Tags: krungthai COMPASS, KTB, กนง., อัตราดอกเบี้ยนโยบาย, เศรษฐกิจไทย