2 บมจ.ใหญ่ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) และ บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC) เลื่อนขาย IPO ออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลังจากก่อนหน้านี้ SCGC เลื่อนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) มาหลายรอบ เช่นเดียวกับ BRC ที่ได้ออกมาประกาศชะลอแผนการ IPO ออกไปก่อน จากสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศไม่เอื้อต่อการ IPO ที่มีขนาดใหญ่ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยืนยันไม่สร้างจิตวิทยาลบต่อบริษัทอื่นที่เตรียม IPO มั่นใจ Q4/66 เข้าเทรดเพียบและยังมีบริษัทที่อยู่ระหว่างยื่นไฟลิ่งมากกว่า 40 บริษัท
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวกับ”อินโฟเควสท์” ว่า กรณีบมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) และบมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC) ชะลอแผน IPO ไม่ส่งผลลบ หรือสร้างจิตวิทยาเชิงลบต่อบริษัทอื่นๆ ที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปีนี้ เนื่องด้วยที่อยู่ใน Pipeline จะเป็นบริษัทที่มีขนาดกลาง ถึงขนาดเล็ก ซึ่งมีจำนวนหุ้นที่เสนอขาย IPO ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับหุ้นขนาดใหญ่ดังกล่าว
ขณะที่ปัจจุบันยังมีบริษัทไม่ต่ำกว่า 40 บริษัท ที่อยู่ระหว่างยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งถือว่ามีจำนวนหนาแน่นเมื่อเทียบกับปีก่อน และเมื่อเข้าช่วงไตรมาส 4/66 เป็นต้นไป ก็คาดว่าจะเห็นบริษัททยอยเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ มากขึ้น ซึ่งยังคงหนาแน่นเป็นปกติเหมือนกับปีที่ผ่านมา
สำหรับสภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ ยอมรับว่าส่วนหนึ่งได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งไม่ใช่แค่ตลาดหุ้นไทย แต่ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบไปทั่วโลกเช่นกัน แต่ภาพในประเทศเริ่มดีขึ้น หลังจากการจัดตั้งรัฐบาลชัดเจนแล้ว ก็คาดว่าจะเป็นแรงหนุนต่อตลาดหุ้นไทย และดึงดุดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติได้
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์ มองครึ่งปีหลังนี้ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะนำบริษัทเข้าทำการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย หลังการจัดตั้งรัฐบาลชัดเจนแล้ว และน่าจะเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะถัดไป ขณะที่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะเป็นปัจจัยที่เข้ามากระทบต่อตลาดฯ ในระยะสั้นๆ เนื่องจากมองเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อีกแค่ 1 ครั้งเท่านั้น
อย่างไรก็ดีทำให้มองสวนทางกับ 2 หุ้นใหญ่ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) และบมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC) ที่เลื่อนแผนเข้าตลาดฯ ในปีนี้ เนื่องจากเชื่อว่าตลาดอยู่ใน Timing ที่ดี และมี Valuation ในระดับกลางๆ แต่หากมองในเชิงบริษัทก็คงอยากได้ Valuation ที่มากกว่านี้ ถ้าหากตลาดมีรีเทิร์นกลับมาในครึ่งปีหลังนี้ ก็น่าจะหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมามากขึ้นในปีหน้า ทำให้ไปเข้าตลาดฯ ในปีหน้าดีกว่า ประกอบกับบางบริษัท อย่าง SCGC ที่เลื่อนการ IPO ไป ก็มีปัจจัยของประเทศจีนที่ไม่เอื้อ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นขาลงอยู่ แต่กลับมองว่า BRC ไม่ควรเลื่อน เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวแล้ว
จากการสำรวจข้อมูลบนเว็บไซด์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า ปัจจุบันมีบริษัทได้รับอนุญาตแบบคำขอให้เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่แล้ว ได้แก่ บมจ.พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ (PPPGC), บมจ.ไซโน โลจิสติกส์ คอร์ปอเรชั่น (SINO), บมจ.แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น (BKKGI),บมจ.เจนก้องไกล (JPARK), บมจ.พี ซี แอล โฮลดิ้ง (PCL), บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV),
บมจ.วินโดว์ เอเชีย (WINDOW), บมจ. อรสิริน โฮลดิ้ง (ORN), บมจ.แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท (ADVICE) บมจ.เจเนซีส เฟอร์ทิลีตี เซ็นเตอร์ (GFC), บมจ.มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MGI), บมจ.เอสเตติก คอนเนค (TRP) , บมจ. อาร์ เอส เอส 2016 เป็นต้น และยังมีบริษัทที่อยู่ระหว่างการไฟลิ่งอีกจำนวนมาก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ย. 66)
Tags: BRC, SCGC, SCOOP, ZoomIn, ตลท., บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น, หุ้นไทย, เอสซีจี เคมิคอลส์