![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2023/08/81E429C4F8D636325F19F92EEE450D0A.jpg)
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ได้รับของกลางเพื่อตรวจวิเคราะห์ ลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนสีส้ม ด้านหนึ่งพิมพ์เลข “5” อีกด้านหนึ่งพิมพ์สัญลักษณ์ บนแผงพิมพ์ “Erimin 5” (อีริมิน 5) ตรวจพบตัวยาฟลูอัลปราโซแลม (Flualprazolam) ซึ่งเป็นยานอนหลับ กลุ่มเบนโซไดอะเซปีนส์ชนิดใหม่ ที่ยังไม่เคยตรวจพบมาก่อนในประเทศไทย จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1
ยาเม็ดอีริมิน 5 โดยปกติมีส่วนประกอบของวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ชื่อไนเมตาซีแพม (Nimetazepam) มีขนาดยา 5 มิลลิกรัม จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ฯ ในประเภท 2 ซึ่งปัจจุบันไม่มีการจำหน่ายในประเทศไทย แต่มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด และพบระบาดมากใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส ระยะหลังพบการระบาดของยาอีริมินปลอมเพิ่มมากขึ้น โดยการใส่หรือผสมยาหรือวัตถุออกฤทธิ์ฯ ตัวอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ฟลูอัลปาโซแลม จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 มีการออกฤทธิ์คล้ายกับยานอนหลับตัวอื่น ในกลุ่ม benzodiazepines โดยออกฤทธิ์คลายความวิตกกังวล และทำให้ง่วงนอน เนื่องจากฟลูอัลปราโซแลม ไม่มีการใช้เป็นยาในมนุษย์ จึงไม่พบการศึกษาวิจัยทางคลินิกของตัวยา
จากโครงสร้างทางเคมี คาดว่า ฟลูอัลปราโซแลม ออกฤทธิ์ภายใน 10-30 นาที หลังการรับประทาน และออกฤทธิ์นาน 6-14 ชั่วโมง เนื่องจากไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจน ดังนั้น การใช้หรือเสพตัวยาฟลูอัลปราโซแลม จึงเป็นความเสี่ยงต่อผู้เสพที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และควบคุมการแพร่ระบาดของยาดังกล่าว
ทั้งนี้ จากรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลางอีริมิน 5 ตั้งแต่ปี 56 ยังไม่พบฟลูอัลปราโซแลม ดังนั้น ครั้งนี้จึงเป็นการตรวจพบตัวยาฟลูอัลปราโซแลมครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งในประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย มีการตรวจพบตั้งแต่ปี 64 โดยฟลูอัลปราโซแลม เป็นยากลุ่ม benzodiazepines ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น (Synthetic benzodiazepines) มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับอัลปราโซแลม (alprazolam) หรือที่คนไทยเรียกว่า “ยาเสียสาว” แตกต่างกันที่ฟลูอัลปราโซแลม มีอะตอมของฟลูออรีนอยู่ในโครงสร้าง
![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2023/08/B41EF49E43BB5A7C16D0D670ED094AE2.jpg)
“ฟลูอัลปราโซแลม มีฤทธิ์ทำให้หลับ และผ่อนคลาย ออกฤทธิ์ยาวนานกว่ายาเสียสาว สำหรับฟลูอัลปราโซแลม มีการลักลอบมาใช้ในประเทศไทย ครั้งนี้ตรวจพบที่ภาคใต้ แต่ไม่ได้แปลว่าภาคอื่นไม่มี คนที่โดนยาตัวนี้ไป อาจจะไม่รู้ตัว ถ้ามีอาการง่วงผิดปกติ งงๆ สับสนจำอะไรไม่ได้ หรือใจสั่นมาก ควรตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน ขอแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้อย่าไว้ใจใคร ให้ปฏิเสธหากมีใครที่ไม่รู้จักนำเครื่องดื่มหรืออาหารมาให้กิน อย่างไรก็ดี ถ้าไม่ได้กินยาเกินขนาด หรือกินเป็นกรัมๆ อาจไม่ออกฤทธิ์ถึงแก่ชีวิตได้” นพ.ศุภกิจ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ส.ค. 66)
Tags: Erimin 5, Flualprazolam, กระทรวงสาธารณสุข, ฟลูอัลปราโซแลม, ศุภกิจ ศิริลักษณ์, อีริมิน 5