น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบความก้าวหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย – รัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย และผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 30 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
สำหรับความก้าวหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา แบ่งสัญญางานโยธาเป็น 14 สัญญา ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา 1 ชั่วโมง 30 นาที และจะใช้งบประมาณลงทุน 179,412.21 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2569 โดยมีรายละเอียด อาทิ
-
- สัญญาการก่อสร้างงานโยธา จำนวน 14 สัญญา โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา ได้แก่ สัญญา 1-1 กลางดง-ปางอโศก อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา เช่น สัญญา 2-1 สีคิ้ว-กุดจิก (98.37%) สัญญา 3-4 ลาตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด (58.89%) และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา เช่นสัญญา 3-1 แก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า
- งานจ้างออกแบบรายละเอียด การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามสัญญากับรัฐวิสาหกิจจีน China Railway Design Corporation (CRDC) และ China Railway International Corporation (CRIC) ซึ่งฝ่ายจีนได้ออกแบบเสร็จแล้ว
- งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล การจัดหาขบวนรถไฟและการจัดฝึกอบรมบุคลากร รฟท. ได้ลงนามสัญญากับ CRDC และ CRIC เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 63 วงเงิน 50,644.5 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงาน 64 เดือน ขณะนี้ ผู้รับจ้างได้ออกแบบตามสัญญาเบื้องต้นเสร็จแล้ว และฝ่ายไทยอยู่ระหว่างตรวจสอบก่อนแจ้งผู้รับจ้างต่อไป
- การจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กระทรวงคมนาคมได้เตรียมการจัดตั้งองค์กรพิเศษที่จะมาเดินรถในอนาคต ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบองค์กร
- การจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง กระทรวงคมนาคมได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยเป็นองค์การมหาชน อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดหาบุคลากรเพื่อปฏิบัติงาน
- ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย รวมระยะทางประมาณ 356.01 กิโลเมตร ขนาดทาง 1.435 เมตร มีทั้งหมด 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุงเบาและที่จอดรถไฟที่นาทา และศูนย์ซ่อมบำรุงหนักในพื้นที่เชียงรากน้อย มีศูนย์ซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง รวมถึงย่านกองเก็บตู้สินค้าและย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า 1 แห่ง ที่นาทา
ปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจะสามารถเสนอ ครม. เพื่ออนุมัติโครงการได้ภายในปี 2566 ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2571
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า สำหรับการเชื่อมโยงโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน โดยมีการจัดทำแผนการดำเนินการ อาทิ
- การบริหารจัดการสะพานข้ามแม่น้ำโขงเดิมระหว่างรอการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ โดยเพิ่มขบวนรถไฟขาไป 7 ขบวน และขากลับ 7 ขบวน รวม 14 ขบวน รองรับขบวนละ 25 แคร่ และมีการทดสอบการรับน้ำหนักรถไฟ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของสะพานต่อไป
- การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ อยู่ห่างจากสะพานแห่งเดิมประมาณ 30 เมตร ซึ่งไทยและ สปป. ลาว จะร่วมลงทุนในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย ขณะนี้ อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม ซึ่งประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ 1) ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่รองรับรถไฟและรถยนต์บนสะพานเดียวกัน 2) ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่รองรับรถไฟและรถยนต์โดยมีโครงสร้างแยกจากกัน และ 3) ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่รองรับรถไฟเพียงอย่างเดียว โดยปรับปรุงสะพานเดิมให้รองรับน้ำหนักบรรทุกให้มากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นให้ สปป. ลาว ทราบได้ภายในเดือนสิงหาคม 2566
- การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้า แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน พัฒนาย่านสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า ทั้งนี้ อยู่ระหว่างออกประกาศให้ใช้พื้นที่บริเวณสถานีหนองคายเป็นพื้นที่ตรวจปล่อย และระยะยาว พัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอผลการศึกษาการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐให้คณะกรรมการ รฟท. พิจารณา
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 30 มีสาระสำคัญ อาทิ
- ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะดำเนินความร่วมมือโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของไทย โดยจีนจะให้ความร่วมมือในด้านการเงิน
- ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมครั้งที่ 31 ซึ่งจะจัดขึ้นภายหลังการประชุมไตรภาคีระหว่างไทย สปป. ลาว และจีน เกี่ยวกับการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟ ระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ส.ค. 66)
Tags: ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, รัชดา ธนาดิเรก, ไฮสปีด