ยูโอบีเผยผู้บริโภคในอาเซียนยังกังวลเศรษฐกิจเงินเฟ้อ ขณะที่การชำระเงินดิจิทัลสดใส

ยูโอบีเผยรายงานศึกษาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอาเซียน (ASEAN Consumer Sentiment Study หรือ ACSS) ประจำปี 2566 ชี้ว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความหวาดกลัวภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่การใช้งานช่องทางธนาคารและการชำระเงินดิจิทัลเติบโตอย่างคึกคัก

การศึกษา ACSS ของยูโอบีจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 1 ถึง 26 มิถุนายน 2566 โดยสำรวจผู้ตอบแบบสอบถามทางออนไลน์จำนวน 3,400 คน จากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม และยังเป็นครั้งแรกที่ยูโอบีร่วมมือบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป

แจ็กเกอลีน ตัน หัวหน้าฝ่ายบริการการเงินส่วนบุคคลของเครือยูโอบี กล่าวว่า แม้การศึกษา ACSS ปี 2566 ของยูโอบีจะชี้ว่า ผู้บริโภคในอาเซียนมีมุมมองที่มีลักษณะระมัดระวังเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคต เมื่อภาวะเงินเฟ้อในสิงคโปร์และตลาดพัฒนาแล้วแห่งอื่น ๆ ยังคงอยู่ในระดับสูง แต่เรายังยินดีที่ได้เห็นว่าความกระตือรือร้นในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลและการเปิดรับยุคใหม่แห่งเทคโนโลยียังคงไม่แผ่วลง ทั้งนี้ ในการเป็นเครื่องวัดความรู้สึกในระดับภูมิภาคต่อเศรษฐกิจ รวมถึงด้านสำคัญที่เป็นที่สนใจอย่างพฤติกรรมการใช้จ่ายและพฤติกรรมทางการเงิน และเทคโนโลยี ข้อค้นพบจากการศึกษา ACSS ปี 2566 ของยูโอบีนี้มอบมุมมองเชิงลึกที่มีค่า ให้ผู้บริโภคและธุรกิจได้ปรับตัวและเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในขณะนี้

“ในฐานะสถาบันทางการเงินแห่งหนึ่ง กระแสแนวโน้มและมุมมองเชิงลึกที่เห็นได้เด่นชัดในการศึกษาเกี่ยวกับความกังวลหลักของผู้บริโภค การออมเงิน พฤติกรรมและความต้องการทางการเงินและดิจิทัล จะช่วยให้เราเข้าใจลูกค้าของเราในภูมิภาคนี้ได้ดียิ่งขึ้น ทำให้เราตอบสนองความต้องการของลูกค้า และยกระดับความพยายามในการมีปฏิสัมพันธ์ เพื่อสนับสนุนลูกค้าของเราในการปรับตัวเข้าสู่ภูมิทัศน์ใหม่ด้านการธนาคารและดิจิทัล ตลอดจนในการคว้าโอกาสในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจปัจจุบันเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่มั่นหมายไว้”

ภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นถือเป็นข้อกังวลหลักในอาเซียน โดย 63% ของผู้ตอบแบบสอบถามแสดงความกังวลในเรื่องนี้ ขณะที่ 57% กังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่สูงขึ้น ชาวสิงคโปร์มีความกังวลในสองเรื่องนี้มากที่สุด โดย 71% และ 64% ของผู้ตอบแบบสอบถามกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่สูงขึ้นตามลำดับ ทว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 3 ใน 5 ทั่วภูมิภาคนี้คาดว่าตนเองจะมีสถานภาพทางการเงินที่ดีขึ้นภายในเดือนมิถุนายนปีหน้า มากที่สุดคือเวียดนาม (76%) ตามด้วยอินโดนีเซีย (74%) และไทย (68%)

ผู้บริโภคในอาเซียนยังใช้บริการธนาคารในมือถือเพิ่มขึ้น โดยเกือบ 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามได้เพิ่มการใช้งานแอปธนาคารในมือถือในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนการใช้ธนาคารทางอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บเบราเซอร์เป็นที่สองรองมาที่ 35% แพลตฟอร์มข้อมูลทางการเงินแบบผนวกรวมมีการใช้งานเพิ่มขึ้น 20% ในทั้งภูมิภาค โดยไทยและเวียดนามใช้บริการเหล่านี้คึกคักที่สุดในภูมิภาค ผู้บริโภคในอาเซียนแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่พร้อมนำเทคโนโลยีล่าสุดไปใช้งาน

ในด้านการชำระเงินผ่านอีวอลเล็ตหรือคิวอาร์โค้ดเป็นวิธีการชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดในภูมิภาค โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 56% ใช้วิธีชำระเงินดังกล่าวนี้ในปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์มการชำระเงินอีคอมเมิร์ซอยู่ในอันดับที่สองที่ 49% ขณะที่บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตในกระเป๋าเงินดิจิทัลอยู่ในอันดับสามที่ 48% อีกทั้งยังเป็นวิธีการชำระเงินที่ผู้บริโภคมีความสนใจมากที่สุดที่จะลองใช้ โดย 22% ระบุความประสงค์ที่จะลองใช้ในปีหน้า

นอกจากนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในอาเซียนพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของตนกับธนาคาร และเห็นชอบกับการที่ข้อมูลของตนได้รับการนำไปใช้ต่อ โดย กว่า 70% ของผู้ตอบแบบสอบถามสบายใจที่จะให้ข้อมูลทางการเงินให้ธนาคารนำไปรวมบนแพลตฟอร์มเดียว โดย 83% เลือกที่จะทำเช่นนั้นผ่านแอปธนาคาร เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการแอปรายอื่น ๆ อย่างเช่นแอปอีคอมเมิร์ซหรือแอปชอปปิง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ส.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top