ZoomIn: ข้าวไทยรับอานิสงส์อินเดียระงับส่งออก ราคาพุ่ง-ลุ้นส่งออกทะลุเป้า

ราคาข้าวไทยขยับพุ่งสูงขึ้น หลังทางการอินเดียระงับส่งออกข้าว ทำให้ตลาดโลกโกลาหล ส่งผลให้เกิดการชะงักงันของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาข้าวขาวของไทยขึ้นไปถึง 22 บาท/กิโลกรัม หรือ 22,000 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากระดับ 17 บาท/กิโลกรัม หรือ 17,000 บาท/ตัน ในช่วงก่อนที่อินเดียจะระงับการส่งออก

“ขณะนี้ ทุกคนอยู่ในโหมด Wait and See รอดูว่าอินเดียจะดำเนินการอย่างไรในภาคปฏิบัติ ถ้าอินเดียยังคงแบนส่งออกข้าวอยู่ แต่เปิดให้มีการขายในราคาที่ไม่สูงมากนัก ราคาข้าวทั่วโลกในขณะนี้ก็อาจต้องปรับลงมาที่เดิม” นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวกับ “อินโฟเควสท์”

นอกจากนี้ ยังต้องจับตาออเดอร์ข้าวอินเดียที่ค้างอยู่ด้วย เนื่องจากหลังประกาศระงับมีผลทันทีวันรุ่งขึ้น ผู้ส่งออกอินเดียจึงมีการร้องขอกับรัฐบาลอินเดียว่า ขอส่งออกข้าวที่เตรียมส่งมอบไว้แล้วได้หรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้รัฐบาลอินเดียก็ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นรูปธรรมว่าจะมีทางออกอย่างไร

สำหรับสถานการณ์ข้าวทั่วโลก ก่อนที่ประเทศอินเดียจะประกาศระงับการส่งออกข้าวขาวเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ในครึ่งปีแรกของปี 66 ความต้องการซื้อข้าวค่อนข้างดีอยู่แล้ว เนื่องจากทุกประเทศมีความกังวลปัญหาสภาพอากาศที่กำลังเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ ประเทศผู้ซื้อจึงพยายามซื้อข้าวตุนเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในประเทศ โดยในช่วงครึ่งปีแรก อินเดียส่งออกข้าวไปแล้ว 12 ล้านตัน ขณะที่ไทย และเวียดนามส่งออกไปแล้ว 4 ล้านกว่าตัน

ส่วนในครึ่งปีหลัง ประเมินว่าน่าจะใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก รวมทั้งปีจึงตั้งเป้าไว้ที่ 8 ล้านตัน อย่างไรก็ดี ถ้าอินเดียยืนหยัดว่าจะระงับส่งออกต่อไป ปีนี้ไทยอาจส่งออกข้าวได้แตะ 8.5-9 ล้านตันได้ แต่หากอินเดียเริ่มยอมขาย ลูกค้าหลักของไทย เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย อาจหันไปซื้อจากอินเดียแทน เพราะราคาถูกกว่าไทย ถ้าเป็นเช่นนั้นไทยอาจไปไม่ถึงเป้าส่งออกที่ตั้งไว้

“ตอนนี้ อินเดียยังไม่มีอะไรแน่นอน ถ้าอินเดียเหนียวแน่นว่าจะไม่ขาย อาจเห็นราคาข้าวในไทยและเวียดนามพุ่งขึ้นถึง 700-800 เหรียญสหรัฐฯ ได้” นายชูเกียรติ กล่าว

ปัจจุบัน ประเทศอินเดียส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก ตามมาด้วยประเทศเวียดนาม และไทย อย่างไรก็ดี มองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ไทยน่าจะสามารถขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ได้ เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรก เวียดนามได้ส่งออกข้าวในปริมาณมากแล้ว

*จับตาเอลนีโญ อุปสรรคกระทบผลผลิตฉุดส่งออก?

นายชูเกียรติ กล่าวถึงปรากฏการณ์เอลนีโญว่า ขณะนี้ยังเป็นเพียงการคาดการณ์จากหลายหน่วยงานว่า เอลนีโญจะกระทบภาคเกษตร ทำให้ผลผลิตลดลง โดยกรมการข้าว ระบุถึงผลกระทบของเอลนีโญว่า ข้าวนาปี ที่มีผลผลิต 24 ล้านตัน อาจได้ผลกระทบน้อย เนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่อง ถ้าไม่มีฝนทิ้งช่วงในเดือนก.ย.-ต.ค. ผลผลิตน่าจะเทียบเท่ากับปีที่แล้ว

แต่ในส่วนของข้าวนาปรัง ที่การทำเกษตรจะลากยาวไปถึงปี 67 อยู่ที่ 8 ล้านตัน มีความกังวลว่าข้าวนาปรังที่อาศัยชลประทานเป็นหลัก ถ้าน้ำในเขื่อนมีน้อยอาจจะทำให้ผลผลิตลดลงได้ ดังนั้น กรมการข้าว มองภาพรวมปริมาณผลผลิตข้าวทั้งปี 66-67 จะลดลงประมาณ 5%

“ถ้าลดลง 5% ก็ไม่เยอะเท่าไร ก็คงยังส่งออกได้ปกติ แต่กังวลเรื่องราคาในประเทศที่อาจปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ อุปทาน ซึ่งทั้งหมดต้องรอดูต่อไป เพราะยังเป็นการคาดเดา สุดท้ายถ้าฝนตกดี ก็อาจไม่กระทบนาปรังก็ได้ รอดูก.ย.-ต.ค.ว่าฝนจะทิ้งช่วง หรือแล้งขนาดไหน ตอนนั้นน่าจะสามารถประเมินตัวเลขได้ชัดเจนมากขึ้น” นายชูเกียรติ กล่าว

ส่วนกรณีที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้เกษตรกรปลูกข้าวน้อยลง เพื่อประหยัดน้ำนั้น นายชูเกียรติ กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องประกาศเตือน แต่ด้วยราคาข้าวเปลือกที่พุ่งสูงมาก มองว่าเกษตรกรคงไม่ปฏิบัติตาม

“ข้าวเปลือกตอนนี้เกวียนละ 12,000 บาท ซึ่งนานๆ ราคาจะขึ้นมาขนาดนี้ ปกติอยู่เพียง 6,000-8,000 บาท ราคาจูงใจมาก ดังนั้น การห้ามเกษตรกรไม่ให้ปลูกคงยาก ทางโรงสีตามภูมิภาคบางส่วนบอกว่า ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะไม่มีน้ำจากเขื่อนหรือคลองชลประทาน เกษตรกรลงทุนขุดน้ำบาดาล เพราะราคาตอนนี้คุ้มค่าใช้จ่าย” นายชูเกียรติ กล่าว

*จับตาความเสียหายน้ำท่วมในจีน

อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ เหตุน้ำท่วมในจีน เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ปลูกข้าวมากที่สุดในโลก ใน 1 ปีมีผลผลิตข้าวสารถึงประมาณ 145 ล้านตัน ต้องจับตาความเสียหายว่าจะมีมากน้อยเพียงใด และจะทำให้จีนต้องนำเข้าข้าวเพิ่มหรือไม่

“ประเด็นสำคัญคือ น้ำท่วมในแหล่งปลูกข้าวเยอะหรือไม่ และการท่วมขังนานหรือไม่ เพราะปกติในวงการพืชไร่มองว่า น้ำท่วมดีกว่าแล้ง เพราะพอน้ำลด ยังสามารถปลูกใหม่ได้ ถ้าแล้งคือจบ ดังนั้นความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม อาจจะน้อยกว่าแล้ง ตอนนี้ต้องจับตา 2 ประเทศ ทั้งประเทศจีน ที่เป็นผู้ผลิตข้าวมากที่สุดในโลก 145 ล้านตัน รองลงมาคือ อินเดีย 136 ล้านตัน” นายชูเกียรติ กล่าว

*ข้าวถุงจ่อขึ้นราคา

ในส่วนของราคาข้าวสารบรรจุถุง มองว่าควรมีการปรับราคาขึ้น โดยข้าว 1 กิโลกรัม ควรปรับขึ้นราคาอีกประมาณ 25 บาท/ถุง จากราคาถุงละประมาณ 80-100 บาท/ถุง ซึ่งโรงสีได้มีการปรับราคาข้าวขึ้นแล้ว คาดว่าช่วงปลายเดือนส.ค. หรือต้นเดือนก.ย. ถ้ามีการกำหนดราคาข้าวใหม่ ราคาข้าวถุงก็น่าจะมีการปรับขึ้น

“ตอนนี้ต้องเตรียมตัวว่าราคาข้าวจะปรับตัวสูงแน่นอน รัฐบาลจะช่วยอย่างไร อาจต้องช่วยโดยการออกตลาดธงฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ ข้าวทั่วไปต้องปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาด ไม่ควรตรึงราคาข้าว ถ้าตรึงราคา ผู้ผลิต (Suppliers) ก็อาจจะบอกว่าไม่ส่งของดีกว่า ส่งไปก็ขาดทุน” นายชูเกียรติ กล่าว

*แนะรัฐบาลใหม่ศึกษาวิจัยพันธุ์ข้าว-พัฒนาระบบชลประทาน

ในส่วนของข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลใหม่นั้น ต้องการให้ข้าวไทยมีการพัฒนาเรื่องการผลิต และระบบการเพาะปลูก เริ่มตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ข้าวของไทย ที่ต้องมีความหลากหลาย มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น และระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวสั้นลง ซึ่งปัจจุบัน ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวข้าวของไทยอยู่ที่ประมาณ 110-120 วัน แต่หลายประเทศมีระยะเวลาเก็บเกี่ยวอยู่ที่ประมาณ 90 วันเท่านั้น เป็นเรื่องของเทคโนโลยีและการศึกษาวิจัย ซึ่งประเทศเวียดนามไปไกลกว่าไทยมาก

นายชูเกียรติ กล่าวว่า ในทุกรัฐบาลจะสนใจเรื่องราคาข้าวเป็นหลัก จูงใจเกษตรกรด้วยนโยบายราคาข้าวสูง จึงเกิดการแทรกแซงราคาข้าวของรัฐบาล ทั้งระบบจำนำข้าว ประกันรายได้ เป็นต้น ซึ่งใช้งบต่อปีกว่า 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี หากสามารถนำเม็ดเงิน 5% ของงบดังกล่าว มาใช้เพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบชลประทานทั้งประเทศให้ดีขึ้นได้ ก็น่าจะเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากกว่า

“ปัจจุบัน พื้นที่ทำนาต้องพึ่งฝน 75% ส่วนอีก 25% พึ่งระบบชลประทาน ซึ่งควรปรับสัดส่วนเป็น 50% ต่อ 50% โดยการเพิ่มระบบชลประทานที่ดี เพื่อทำให้ต้นทุนของเกษตรกรลดลง ฝากรัฐบาลหน้าให้เล็งเห็นความสำคัญตรงนี้ แม้การวิจัยพันธุ์ข้าวอาจต้องใช้เวลาหลายปี แต่ควรทำให้เกิดเป็นรูปธรรม ไม่เช่นนั้นอุตสาหกรรมข้าวไทยจะถดถอยไปเรื่อยๆ ในขณะที่คู่แข่งพัฒนาในทุกๆ ด้าน รัฐบาลที่แล้วก็เล็งเห็นและเริ่มทำ ก็หวังว่ารัฐบาลใหม่จะสานต่อในส่วนนี้เช่นกัน ส่วนการแทรกแซงราคาข้าวเพื่อการเมืองก็ยังทำได้ แต่ควรทำในสัดส่วนที่ลดลง อย่าลดแลกแจกแถมหมด อาจใช้ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวเท่านั้น เป็นต้น” นายชูเกียรติ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top