สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่ 7 ในวันอังคาร (15 ส.ค.) และปิดที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 เดือน เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐและการแข็งค่าของดอลลาร์ยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาด
- ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 8.80 ดอลลาร์ หรือ 0.45% ปิดที่ 1,935.20 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.
- สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 5.20 เซนต์ หรือ 0.23% ปิดที่ 22.656 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 14.60 ดอลลาร์ หรือ 1.61% ปิดที่ 892.20 ดอลลาร์/ออนซ์
- สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 34.30 ดอลลาร์ หรือ 2.7% ปิดที่ 1,238.60 ดอลลาร์/ออนซ์
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ดีดตัวขึ้นแตะระดับ 103.2057 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 4.274% เมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2565
อเล็กซ์ คุปซีเคนวิช นักวิเคราะห์จากบริษัท FxPro กล่าวว่า การแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของดอลลาร์ยังคงสร้างแรงกดดันต่อราคาทองคำ โดยขณะนี้ดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นแตะระดับเฉลี่ย 200 วันซึ่งเป็นมาตรวัดแนวโน้มในระยะยาว หากดัชนีดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหวที่เหนือระดับ 103.2 ต่อไป ก็มีแนวโน้มที่ดัชนีจะพุ่งขึ้นแตะกรอบ 105.3 – 107.5 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ ส่วนการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดอลลารแข็งค่าและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งขึ้นนั้น มาจากรายงานยอดค้าปลีกที่สูงเกินคาดของสหรัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงต่อไปอีกเป็นเวลานานขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเดือนก.ค.พุ่งขึ้น 3.17% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.50% และเมื่อเทียบรายเดือน ยอดค้าปลีกปรับตัวขึ้น 0.7% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4% โดยแรงหนุนจากยอดขายออนไลน์ในวัน Amazon Prime Day
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 66)
Tags: COMEX, ทองคำนิวยอร์ก, ราคาทอง, ราคาทองคำ