นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเห็นสัญญาณการซึมตัวต่อเนื่องมา 2 เดือนแล้ว ตั้งแต่มิ.ย.-ก.ค. เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่นิ่ง ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ทำให้เศรษฐกิจขาดแรงขับเคลื่อน ซึ่งหากความไม่ชัดเจนทางการเมืองยังลากยาวเช่นนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยขาดโมเมนตัมที่จะไปในทิศทางขาขึ้นได้
อย่างไรก็ดี ม.หอการค้าไทย ยังหวังว่าจะเห็นความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ไม่เกินเดือนก.ย.นี้ เพื่อให้มีนโยบายเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายเงินงบประมาณของประเทศ ซึ่งจะยังช่วยให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 66 นี้ สามารถเติบโตได้ 3.5% ตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
“จุดสังเกตตอนนี้ เศรษฐกิจมีสัญญาณที่ผิดปกติ กำลังซื้อไม่คึกคัก แรงเคลื่อนเศรษฐกิจที่แผ่วบางลง…เราหวังว่าจะมีรัฐบาลใหม่ได้ในช่วงเดือนส.ค. หรือ ก.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจปีนี้ยังโตได้ 3.5% ภายใต้การเมืองที่ยังมีเสถียรภาพในระบบรัฐสภา” นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแบบ K Shape ขาอ่อน เห็นได้จากการจับจ่ายที่ไม่คึกคัก การซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ เริ่มแผ่วลง เนื่องจากคนเริ่มไม่ค่อยมั่นใจ ประกอบกับค่าครองชีพที่ยังสูง รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ดังนั้นหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้เกิดความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุน ไม่วาจะเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) การลงทุนในตราสารต่างๆ มีการขับเคลื่อนเม็ดเงินภายใต้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ซึ่งน่าจะทำให้เห็นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเริ่มกลับมาคึกคักได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 66 นี้อีกครั้ง ช่วงเดือนก.ย.
นายธนวรรธน์ มองว่า การชุมนุมทางการเมืองในระยะหลังนี้ จะเห็นว่าเป็นการชุมนุมเพียงระยะสั้น ไม่ได้มีการชุมนุมต่อเนื่องปักหลักค้างคืนเหมือนในอดีต ดังนั้นเชื่อว่าการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เพราะเป็นการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในกรอบที่นานาประเทศยอมรับได้
“การชุมนุมที่เป็นปัญหามาก คือ การชุมนุมที่ต่อเนื่อง และปักหลัก แต่ปัจจุบันเป็นการชุมนุมแบบเคลื่อนพล เรายังไม่เห็นสัญญาณว่าจะมีการปักหลักชุมนุม ดังนั้นเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และไม่ได้บั่นทอนเศรษฐกิจ แต่หากมีการปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ ก็อาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวได้” นายธนวรรธน์ ระบุ
พร้อมกันนี้ ยังคาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยปีนี้ จะเห็นตัวเลข 25-28 ล้านคนอย่างแน่นอน จากที่ล่าสุดในช่วงครึ่งปีแรก มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้วประมาณ 13 ล้านคน เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยที่จะเข้ามากระทบการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันหรือค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินที่แพงมาก ไม่มีปัญหาโรคระบาดใหญ่ที่ทำให้คนไม่กล้าเดินทางท่องเที่ยว และไม่มีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่รุนแรง
“เราเชื่อว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ 25 ล้านคนปีนี้ทำได้แน่ เพราะยังไม่มีปัจจัยอะไรที่จะทำให้คนกลัวการเดินทาง ราคาน้ำมันก็ไม่ได้แพงจัด ค่าตั๋วเครื่องบินก็ไม่ได้สูงมาก ไม่มีปัญหาโรคระบาด การเดินทางมาไทยยังทำได้ปกติ ไม่ได้มีม็อบ แต่อาจต้องจับตานักท่องเที่ยวจีนว่าจะกลับมาได้อย่างโดดเด่นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากไตรมาส 4 นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมามาก ก็เชื่อว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะได้เห็น 25-28 ล้านคนแน่นอน” นายธนวรรธน์ ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ส.ค. 66)
Tags: ธนวรรธน์ พลวิชัย, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ, เศรษฐกิจไทย