ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์มหภาค เผย เศรษฐกิจไทยใกล้เข้าสู่สภาวะปกติ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถอนคันเร่งนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย อาจปรับดอกเบี้ยอีกครั้งปีนี้คุมเงินเฟ้อจากเอลนิโญ ตั้งรัฐบาลล่าช้าไม่น่าห่วงเท่าประท้วง ทำท่องเที่ยวสะดุดฉุดเศรษฐกิจโต
นายพงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เมื่อวานนี้ (2 ส.ค.) เป็นไปตามที่ ธปท. พยายามสื่อสารมาโดยตลอด แม้คนทั่วไปอาจไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวตามที่ธปท. ประเมินไว้ แต่การขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนส.ค. ปีที่แล้ว เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ระดับปกติ (Normalization Process) จากช่วงโควิดที่ผ่านมา ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในช่วงต่ำกว่าระดับปกติ ซึ่งการสื่อสารของธปท. รอบนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า อยู่ในจุดที่ใกล้จบดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว
“เราไม่ได้เหยียบเบรกเหมือนธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แต่เรากำลังถอนคันเร่งจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ตั้งแต่ยุคโควิด เพราะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าหลายประเทศ ต่างจากกรณีของสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วมากจนตึงตัว ต้องแตะเบรก” นายพงศ์ศักดิ์ กล่าว
หน้าที่หลักของนโยบายการเงิน คือ การรักษากำลังซื้อของคนในระบบเศรษฐกิจ ธนาคารกลางทั่วโลก จึงมุ่งเป้าไปที่การควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย แม้แต่เฟดที่ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ระดับ 0.25% จนถึง 5.25% โดยยอมรับความเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจถึงขั้นถดถอย เพราะไม่อยากให้ของแพงจนเกินไป เมื่อเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงมาก การขึ้นดอกเบี้ยจึงต้องใช้ยาแรงตาม
“ในกรณีของไทย ดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% นิดๆ เทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ 3.6-3.8% ยังถือว่าไม่สูง เปรียบเสมือนคนที่มีรายได้โตตาม GDP ส่วนดอกเบี้ยไม่ได้สูงเกินรายได้ แต่ปัญหาของบ้านเรา คือ ภาคครัวเรือนมีหนี้พอกพูนมาก่อนแล้ว พออยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ภาระหนี้ก็สูงขึ้นตาม” นายพงศ์ศักดิ์ กล่าว
ปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นปัญหาระดับโครงสร้าง ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะจุดในการดูแล เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ หรือการขอความร่วมมือจากเจ้าหนี้ ดังนั้น การใช้นโยบายการเงินผ่านการปรับอัตราดอกเบี้ย จึงไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย หากดอกเบี้ยถูกไป ยิ่งจูงใจให้คนกู้เยอะขึ้น อาจนำไปสู่วิกฤติในระยะยาวได้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นเครื่องมือในการดูแลเศรษฐกิจมหภาค จึงกำลังทำหน้าที่อย่างเหมาะสมแล้ว ในการรักษาเสถียรภาพด้วยการทำให้เงินเฟ้อปรับให้เข้าสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน
นักเศรษฐศาสตร์ รั้วจุฬา แสดงความเห็นว่า ธปท. ยังมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้งในปีนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะไปจบที่ 2.5% สาเหตุหลักมาจากความเสี่ยงของเงินเฟ้อ แม้ที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อจะต่ำเนื่องจากฐานที่สูงในปีที่แล้ว แต่ปัจจัยเสี่ยงในภายภาคหน้ายังไม่จบ โดยเฉพาะปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจส่งผลต่อเงินเฟ้อพื้นฐานในส่วนของอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ธปท. ยังส่งสัญญาณที่ระบุว่า “ต้องการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง” จึงอาจมีการขึ้นดอกเบี้ยไว้ก่อนในยามที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เพื่อให้มีพื้นที่ (Policy Space) ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด ก็อาจทำให้ธปท. พิจารณาหยุดขึ้นดอกเบี้ย โดยตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเป็นหลักในปีนี้คือ ภาคท่องเที่ยว แม้จะมีตัวเลขคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นกว่าปีที่แล้วแต่ยอดการใช้จ่ายต่อหัวกลับลดลง
ในขณะที่ภาคส่งออก ยังถูกกดดันจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก หลังจากผ่านไปครึ่งปี พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐแย่น้อยกว่าที่ตลาดคาด ตรงกันข้ามกับตัวเลขเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวน้อยกว่าที่คาด จนกระทั่งธนาคารกลางของจีนจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยลง และรัฐบาลจีนกำลังถูกกดดันให้อัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
มีการตั้งข้อสังเกตว่า คนอาจจะกังวลเรื่องระยะเวลาการจัดตั้งรัฐบาลมากเกินไป การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าไม่ว่าจะ 3 หรือ 6 เดือน อาจส่งผลต่องบลงทุนภาครัฐอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับ GDP การเบิกจ่ายตามปกติยังคงทำได้ การลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งเห็นสัญญาณแล้วว่าตัวเลขดีขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เรื่องจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า หรือการทะเลาะกันในสภา ยังไม่น่าห่วงเท่ากับความรุนแรงนอกสภา การประท้วงที่นำไปสู่การสร้างบรรยากาศตึงเครียดบนท้องถนน จะกระทบกับภาคท่องเที่ยวโดยตรง และอาจฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้
“ถามคนทั่วไปก็รู้อยู่แล้วว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่คงจะตามมา ไม่ว่าจะเป็นแจกเงิน ขึ้นค่าแรง เชื่อว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาก็จะอัดฉีดด้านการคลังเพื่อให้เห็นว่าได้เริ่มลงมือทำงาน เป็นจังหวะเดียวกับที่นโยบายทางการเงินกำลังลดการผ่อนคลาย ให้เศรษฐกิจไทยกลับสู่สภาวะปกติ” นายพงศ์ศักดิ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 66)
Tags: กนง., ดอกเบี้ย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., เงินเฟ้อ, เศรษฐศาสตร์, เอลนีโญ