นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่า ปริมาณเงินฝากในขณะนี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ฝากเกือบทุกกลุ่ม โดยปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นสูงสุดในกลุ่ม “ผู้ฝากบุคคลธรรมดา” และ “ผู้ฝากภาคธุรกิจ องค์กรภาครัฐ และกองทุนต่าง ๆ” อีกทั้งมีการขยายตัวในทุกระดับวงเงินฝาก โดยเกือบครึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในระดับเงินฝากวงเงินสูงกว่า 25 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี จากปริมาณเงินฝากที่ขยายตัวในอัตราสูง เป็นผลมาจากความผันผวนในตลาดการเงิน ทำให้นักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนมาเข้าเงินฝากมากขึ้นเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากเงินฝากมีความปลอดภัยสูง เมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นในตลาดเงินที่ผลตอบแทนลดลง และยังมีแนวโน้มการออมเพื่อสำรองการใช้จ่ายในอนาคต
จากข้อมูลสถิติการฝากเงินในสถาบันการเงิน ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเงินฝากย้อนหลัง 3 ปี พบแนวโน้มจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองของระบบสถาบันการเงินเป็นไปในทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 60-62 มีเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง จำนวน 12.54 ล้านล้านบาท 13.02 ล้านล้านบาท และ 13.56 ล้านล้านบาท ตามลำดับ
และข้อมูลในช่วง 6 เดือนแรกของปี 63 ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย. ประเทศไทยมีจำนวนผู้ฝากในระบบสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองของ สคฝ. รวม 80.82 ล้านราย โดยเพิ่มขึ้น 1.38% หรือราว 1.1 ล้านราย และมีจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองมีจำนวนทั้งสิ้น 14.67 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.12% เมื่อเทียบกับข้อมูลเมื่อสิ้นปี 62 โดยกว่า 98% เป็นผู้ฝากรายย่อยที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท
สำหรับสถานการณ์เงินฝากในช่วงครึ่งหลังของปี 63 นายทรงพล คาดว่าจะยังเติบโตได้เป็นอย่างดี โดยจะสูงกว่าภาพรวมการฝากเงินปกติ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 4-6% ต่อปี โดยประชาชนส่วนใหญ่ยังมีการนำเงินมาฝากไว้กับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการพักเงิน ก่อนจะมีการโยกไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำในระยะต่อไป
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี และรัฐบาลมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก เป็นผลให้การใช้จ่ายของประชาชนชะลอตัวลงด้วย แต่หลังจากมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว คาดว่าจะมีการนำเงินฝากออกมาใช้จ่ายในช่วงไตรมาส 2/63 ก่อนจะเริ่มนำเงินกลับมาฝากกับสถาบันการเงินอีกในช่วงครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ดี ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา สคฝ. มีเงินกองทุนที่มาจากการส่งเงินสมทบของสถาบันการเงิน ทั้งสิ้น 1.29 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมี สคฝ.บริหารจัดการเพื่อให้เกิดผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อาทิ พันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรของ ธปท. ประมาณ 70% สะท้อนสถานะของ สคฝ.ที่แข็งแกร่ง มีความคุ้มในการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนของผู้ฝากเงิน
โดย สคฝ. จะให้การคุ้มครองเงินฝากแก่ผู้ฝากทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ฝากเงินเป็นสกุลเงินบาทกับสถาบันการเงินภายใต้กฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากทั้ง 35 แห่ง ขณะนี้ สคฝ. อยู่ระหว่างการศึกษาผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ เพื่อพิจารณาขยายการคุ้มครองในอนาคต
ทั้งนี้ การคุ้มครองจะคุ้มครองทันทีในลักษณะ 1 รายชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบัน ในบัญชีเงินฝาก 5 ประเภท ได้แก่ 1. เงินฝากกระแสรายวัน 2. เงินฝากออมทรัพย์ 3. เงินฝากประจำ 4. บัตรเงินฝาก และ 5. ใบรับฝาก ซึ่งในกรณีที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากจะได้รับเงินคืนภายใน 30 วัน ตามวงเงินที่กฎหมายกำหนด
ปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 5 ล้านบาท จนถึงวันที่ 10 ส.ค.64 หลังจากนั้นวงเงินคุ้มครองจะลดลงเหลือ 1 ล้านบาท ซึ่งวงเงินคุ้มครองดังกล่าว สามารถครอบคลุมการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนของผู้ฝากเงิน 80.51 ล้านราย หรือคิดเป็น 99.63% ของผู้ฝากเงินทั้งระบบ ส่วนเงินฝากที่เกินวงเงินการคุ้มครอง ผู้ฝากมีโอกาสได้รับเงินฝากคืนเพิ่มเติม จากการชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการในภายหลัง
นายทรงพล ยืนยันว่า ปัจจุบันสถานะของสถาบันการเงินของประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง เพราะทุกแห่งมีการกันสำรองหนี้เสียไว้สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด จึงไม่อยากให้ประชาชนต้องวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานะของสถาบันการเงินแต่อย่างใด
“ปัจจุบันไม่มีธนาคารไหนในประเทศไทยที่สถานะมีปัญหา ทุกแห่งยังแข็งแรง มีการกันสำรองไว้สูงกว่าเกณฑ์เป็นจำนวนมาก จึงขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวล หรือใส่ใจเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวมากจนเกินไป โดยที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยืนยันว่าแล้วว่าทุกธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ในระดับสูง จึงไม่จำเป็นต้องวิตกเรื่องสถานะของธนาคารว่าไม่แข็งแกร่ง”
นายทรงพล กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ส.ค. 63)
Tags: ตลาดการเงิน, ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์, ฝากเงิน, พันธบัตรของ ธปท., พันธบัตรรัฐบาล, สคฝ., สถาบันคุ้มครองเงินฝาก