นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เผยภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งแรกปี 2566 ระหว่าง มกราคม – มิถุนายน มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 300,005 ล้านบาท เติบโต 3.78% เมื่อเทียบ กับช่วงเดียวกันปี 2565 แยกเป็น
1.เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 86,802 ล้านบาท อัตราการเติบโต 8.93% ในจำนวนนี้เป็นเบี้ยประกันภัยรับปีแรก 56,456 ล้านบาท เติบโต 14.44% และเบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว 30,346 ล้านบาท ลดลง 0.03%
2. เบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 213,203 ล้านบาท อัตราการเติบโต 1.82% โดยมีอัตราความคงอยู่ ของกรมธรรม์ 82%
สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมในช่วงครึ่งแรก ปี 2566 และมีอัตราการเติบโตมากขึ้น ได้แก่
– สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและคุ้มครองโรคร้ายแรง ที่เติบโต 6.34% คิดเป็นสัดส่วน 18.01% ซึ่งหลัก ๆ มาจากการที่ประชาชนเริ่มให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น อันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายในการ รักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จึงทำให้สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ และคุ้มครองโรคร้ายแรง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ประชาชนให้ความสนใจ
– แบบประกันบำนาญ ที่เติบโต 12.84% คิดเป็นสัดส่วน 1.71% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสังคมสูงวัย (Aged Society) และมาจากค่านิยมของการแต่งงานช้า มีบุตรน้อยลง ทeให้คนทั่วไปเริ่มตระหนักถึงการออมเงินไว้สeหรับดูแลตัวเองในช่วงหลังเกษียณมากขึ้น
“เหตุนี้ จึงเป็นปัจจัยเร่งสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจ รวมถึงแต่ละบริษัทประกันชีวิต จะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และสามารถตอบโจทย์บนความต้องการ และไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น” นายสาระ กล่าว
ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit- Linked +Universal Life) เติบโตลดลง 13.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 17,201 ล้านบาท และมีสัดส่วนเมื่อเทียบเบี้ยรับรวมทั้งหมด 5.73% ซึ่งมาจากความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจโลกและภายในประเทศ รวมถึงความผันผวนของอัตราผลตอบแทน และภาวะอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถรับความผันผวนจากการลงทุน จึงทeให้ชะลอการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุนออกไปก่อน
นายสาระ ยังกล่าวถึงทิศทางภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 มีปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้ภาคธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราการเติบโตเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี โดยคาดการณ์ว่าภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตปี 2566 จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 612,500 – 623,500 ล้านบาท เติบโตอยู่ในช่วง 0-2% ด้วยอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประมาณ 81-82%
ปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ คือ ประชาชนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันชีวิต และสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพหรือโรคร้ายแรงมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะมาจากแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ยังมาจากความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ เช่น โควิด-19 และมาจากภาคธุรกิจที่ออกนโยบายและมีการบังคับใช้แบบมาตรฐานใหม่ของสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ (New Health Standard) ที่มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้ประชาชนสามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์และเลือกความคุ้มครองได้ตามที่ต้องการได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ประชาชนเริ่มตระหนักในการทำประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) มากขึ้น จากการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัย
รวมถึงที่ทางภาครัฐให้การสนับสนุนเรื่องมาตรการลดหย่อนภาษีของประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันบำนาญ และมีมาตรการผ่อนคลายการกำกับดูแลให้เป็น Principle-Base มากขึ้น โดยกรอบแนวปฏิบัติสามารถปรับได้ตามความเหมาะสมกับสภาวะตลาดในปัจจุบัน เพื่อให้ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตยังสามารถเติบโตได้ แม้ว่าจะอยู่ในสภาวะวิกฤต นอกจากนี้ ภาคธุรกิจได้มีการส่งเสริมให้บริษัทประกันชีวิตมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและขีดความสามารถทางการแข่งขันให้มากขึ้น
นายสาระ กล่าวด้วยว่า ธุรกิจประกันชีวิตยังคงต้องติดตามปัจจัยท้าทายต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด อาทิ ความไม่แน่นอนจาก เศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อระดับอัตราดอกเบี้ย (Yield Curve) ที่ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา จะมีทิศทางที่ปรับสูงขึ้น แต่ยังต้องมีความระมัดระวังในการเลือกลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท, สงครามการค้าและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อหรืออำนาจซื้อของประชาชน, ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองทั้งในและต่างประเทศที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน, ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่สามารถสร้างผลกระทบ และมีผลต่อเสถียรภาพของระบบการประกันชีวิตและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ก.ค. 66)
Tags: ประกันชีวิต, สมาคมประกันชีวิตไทย, สาระ ล่ำซำ