Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ผู้ส่งออกไทย จะยังเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน แม้ว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มที่จะกลับมาขยายตัวได้ หลังจากที่ครึ่งปีแรกหดตัวไปแล้ว 5.4% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขในครึ่งปีหลังจะกลับมาเป็นบวก จากผลของฐานปีก่อนที่ต่ำลง แต่มูลค่าการส่งออกต่อเดือน อาจฟื้นตัวได้ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจหลัก มีแนวโน้มชะลอตัวท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะยุโรป ซึ่งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Manufacturing PMI) ยังอยู่ในระดับหดตัวต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนมีสัญญาณฟื้นตัวช้ากว่าคาด ส่งผลให้การฟื้นตัวของอุปสงค์โลกในระยะข้างหน้า มีความไม่แน่นอนสูง สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกของภูมิภาคที่ยังหดตัวต่อเนื่อง และข้อมูลเร็วการส่งออกของเกาหลีใต้เดือน ก.ค. 20 วันแรกยังหดตัวสูงถึง -16.5%YoY สะท้อนถึงอุปสงค์โลกยังอ่อนแอ
สำหรับมูลค่าการส่งออกของไทย ในเดือนมิ.ย.66 อยู่ที่ 24,826 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว 6.4%YoY เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 แต่หดตัวน้อยกว่าตลาดคาดการณ์ที่ -7.3% โดยการส่งออกหดตัวต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ความต้องการสินค้าลดลง และภาคธุรกิจเร่งระบายสินค้าคงคลังมากขึ้น สำหรับการส่งออกทองคำเดือนนี้หดตัว 65.9% ทำให้เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้ติดลบ 5.1%YoY ทั้งนี้ การส่งออก 6 เดือนแรกหดตัว 5.4%
ด้านการส่งออกรายสินค้าส่วนใหญ่หดตัว โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวที่ -4.6%YoY หลังจากขยายตัวเมื่อเดือนก่อน การส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ด้านการส่งออกรายตลาด บางส่วนยังหดตัว เช่น สหรัฐฯ หดตัวที่ -4.8%YoY สหภาพยุโรป (EU27) กลับมาหดตัวที่ -9.0%YoY และอาเซียน (ASEAN5) กลับมาหดตัวที่ -18.0%YoY
ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเดือน มิ.ย.66 อยู่ที่ 24,768.4 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว 10.3%YoY หดตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่หดตัว 3.2%YoY ตามการหดตัวของสินค้าเชื้อเพลิง (-17.9%YoY) จากผลของฐานราคาพลังงานที่สูงในปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน มิ.ย. กลับมาเกินดุลเล็กน้อย ที่ระดับ 57.7 ล้านดอลลาร์ฯ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ค. 66)
Tags: krungthai COMPASS, ส่งออกไทย, เศรษฐกิจไทย