นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยบทวิเคราะห์ “10 ปี ชาวนาไทย จนเพิ่ม หนี้ท่วม” ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เป็นวังวนการแทรกแซงตลาดข้าวที่เกิดขึ้นในทุกรัฐบาล ทั้งการประกันราคา ประกันรายได้ หรือจำนำข้าว แต่รายได้ชาวนายังต่ำสุดเมื่อเทียบกับเกษตรกรที่ปลูกทุเรียน ปาล์มน้ำมัน และยางพารา
“10 ปีที่แล้ว ต้นทุนต่ำ รายได้สูง ปัจจุบันนี้ต้นทุนสูง รายได้ต่ำสลับกัน จากวงจรอุบาทว์ คือ ปลูกข้าว, ได้ผลผลิตข้าว, ขายข้าวที่ได้จากการผลิต และนำเงินไปใช้จ่าย กู้ยืมเงิน ชำระหนี้ ปลดหนี้วนไป ทางออกของปัญหา คือต้องปฎิรูปข้าวไทย 360 องศา” นายอัทธ์ กล่าว
*เปรียบเทียบระหว่างชาวนาไทย กับอินเดีย เวียดนาม เมียนมา
– ในช่วง 10 ปี (ปี 55 กับ 65) พบว่า ผลผลิตข้าวไทยลดลง รายได้ และเงินคงเหลือของไทยน้อยกว่าคู่แข่ง และต้นทุนการผลิตของไทยเพิ่มขึ้นรองจากอินเดีย
– ในปี 65 ชาวนาไทย มีต้นทุนการผลิต 5,898.5 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 2,058.8 บาท/ไร่ จากปี 55 (ปี 55 มีต้นทุนการผลิต 3,839.7 บาท/ไร่) ขณะที่รายได้ลดลง 777.7 บาท/ไร่ โดยในปี 65 ชาวนามีรายได้ 3,900.3 บาท/ไร่ น้อยกว่าในปี 55 ที่มีรายได้ 4,678.0 บาท/ไร่ ทั้งนี้ ในปี 55 ชาวนามีเงินคงเหลือ 838.3 บาท/ไร่ แต่ปี 65 ชาวนามีเงินขาดทุน 1,998.2 บาท/ไร่
– ในปี 65 ชาวนาอินเดีย มีต้นทุนการผลิต 6,993.7 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 2,581.8 บาท/ไร่ จากปี 55 (ปี 55 มีต้นทุนการผลิต 4,411.9 บาท/ไร่) อย่างไรก็ตาม แม้จะมีต้นทุนเพิ่มแต่ชาวนาอินเดียก็มีรายได้เพิ่มขึ้น 1,817.4 บาท/ไร่ โดยในปี 65 ชาวนามีรายได้ 11,115.6 บาท/ไร่ เพิ่มจากปี 55 ที่มีรายได้ 9,298.2 บาท/ไร่ ทำให้ในปี 55 ชาวนาอินเดียมีเงินคงเหลือ 4,886.3 บาท/ไร่ และปี 65 มีเงินคงเหลือ 4,121.9บาท/ไร่
– ในปี 65 ชาวนาเวียดนาม มีต้นทุนการผลิต 5,098.1 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 1,027.3 บาท/ไร่ จากปี 55 (ปี 55 มีต้นทุนการผลิต 4,070.8 บาท/ไร่) ซึ่งชาวนาเวียดนามมีรายได้เพิ่มขึ้น 69.1 บาท/ไร่ โดยในปี 65 ชาวนามีรายได้ 8,320.6 บาท/ไร่ เพิ่มจากปี 55 ที่มีรายได้ 8,251.5 บาท/ไร่ ทำให้ในปี 55 ชาวนาเวียดนามมีเงินคงเหลือ 4,180.7 บาท/ไร่ และปี 65 มีเงินคงเหลือ 3,222.5 บาท/ไร่
– ในปี 65 ชาวนาเมียนมา มีต้นทุนการผลิต 4,574.2 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 1,420 บาท/ไร่ จากปี 55 (ปี 55 มีต้นทุนการผลิต 3,154.2 บาท/ไร่) ทั้งนี้ ชาวนาเมียนมามีรายได้เพิ่มขึ้น 1,421.3 บาท/ไร่ โดยในปี 65 ชาวนามีรายได้ 5,953.1 บาท/ไร่ เพิ่มจากปี 55 ที่มีรายได้ 4,532 บาท/ไร่ ทำให้ในปี 55 ชาวนาเมียนมามีเงินคงเหลือ 1,377.8 บาท/ไร่ และปี 65 มีเงินคงเหลือ 1,379.1 บาท/ไร่
“10 ปี ชาวนาไทยจนที่สุดในเอเชีย และอาเซียน เนื่องจากผลผลิตข้าวไทยลดลง รายได้ และเงินคงเหลือของไทยน้อยกว่าคู่แข่ง และต้นทุนการผลิตของไทยเพิ่มขึ้น รองจากอินเดีย โดยโครงสร้างต้นทุนการผลิต ทั้งค่าปุ๋ย ค่าเช่าที่ดิน และค่าดูแลรักษา พุ่งทะยานในช่วง 10 ปี” นายอัทธ์ กล่าว
*10 ปี ข้าวไทย 10 ปี จุดอับ บทเรียนที่สิ้นหวัง
1. ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยต่ำกว่าเวียดนาม 3 เท่า (ไทยเฉลี่ย 450 กก.ต่อไร่ เวียดนามมากกว่า 1,000 กก. หรือมากกว่า 1 ตันต่อไร่)
2. ชาวนาไทยมีอาชีพทำนา แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวนามืออาชีพ ขณะที่เวียดนามคือชาวนาอาชีพ จากชาวนาไทยส่วนใหญ่คิดแค่ 2 เรื่องคือ ราคากับผลผลิต ไม่ค่อยคิดเรื่องการปรับลดต้นทุน แต่ชาวนาเวียดนามคิดในเรื่อง “3 ลด 3 เพิ่ม”
3. ปลดหนี้โดยขายที่นา ชาวนาขาดทุนสะสมจากการทำนาต้องขายที่นา และเช่าที่นาตัวเองเพื่อทำการเกษตรต่อ นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถปลดหนี้ให้กับชาวนาได้
4. แหล่งน้ำไม่พร้อม และปัญหาโลกร้อน เวียดนามทำนาได้ 3 ครั้งต่อปี ไทยทำได้ 1-2 ครั้ง ประกอบกับไทยเจอเอลนโญ ส่งผลให้ขาดน้ำเพิ่ม
5. เงินวิจัยน้อย ไทยใส่เงิน 200 ล้านบาทในการวิจัย แต่เวียดนามใส่เงิน 3 พันล้านบาท ส่วนอินเดีย จีน และญี่ปุ่นใส่เงินวิจัยข้าวมากกว่า 1 พันล้านเหรียญต่อปี
6. นโยบายการแทรกแซงตลาด ทำลายศักยภาพการแข่งข้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาข้าวอย่างแท้จริง
7. ยิ่งทำนา หนี้ยิ่งเพิ่ม ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตต่อไร่ลดลง ราคาขายลดลง
8. ข้าวไทยไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคสมัยใหม่ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหันไปรักสุขภาพมากขึ้นและข้าวหอม และนุ่ม
9. เอกลักษณ์ข้าวไทยลดน้อยถอยลง (ความหอม ความนุ่ม) มีการปลอมปน และเร่งการผลิตบนที่ดินที่ขาดคุณภาพ
10. การควบคุมการกระจายพันธุ์ข้าว การกระจายพันธุ์ข้าวเพื่อควบคุมคุณภาพข้าวเวียดนามทำได้ดีกว่าไทย
*ฝากรัฐบาลใหม่ แก้ปัญหาข้าวและชาวนาไทยแบบจริงจัง
นายอัทธ์ กล่าวว่า นโยบายการแทรกแซงตลาดข้าว ไม่ได้ทำให้เงินในกระเป๋าของชาวนามีเงินเหลือ ขณะเดียวกัน ยังทำให้รายได้ของชาวนาติดลบด้วย ดังนั้น จึงขอฝากไปยังรัฐบาลใหม่ให้แก้ปัญหาเรื่องชาวนา และข้าวไทย ดังนี้
1. ต้องแก้ปัญหาชาวนา และปัญหาข้าวไทยให้ตรงจุด
2. ต้องดูประเทศคู่แข่งเป็นกระจกสะท้อนว่ามีการพัฒนาข้าว และทำให้ชาวนามีรายได้เป็นบวกได้อย่างไร ไม่ละเลยต่อการมองศักยภาพการผลิตเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง
3. เปลี่ยนเงินแทรกแซงตลาดข้าว หรือสินค้าเกษตร มาเป็นรางวัลให้เกษตรกร ว่า ใครสามารถยกระดับผลผลิตต่อไร่ หรือลดต้นทุนการผลิตได้ จะมีรางวัล ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันไปในตัวด้วย
4. รัฐบาลต้องดูปัจจัยเรื่องน้ำ ที่เป็นเรื่องใหญ่ของเกษตรกร อาทิ ให้ซอฟต์โลน หรือให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร เพื่อขุดบ่อกักเก็บน้ำหรือสระน้ำ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึง
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้ชาวนาที่ผ่านมา เกษตรกรแก้ด้วยวิธีของตนเองโดยการขายที่นา อย่างไรก็ดี มองว่าการแก้หนี้จริงจัง ต้องมองให้เห็นถึงปัญหาของข้าว ซึ่งทางออกมี 2 ข้อ คือ 1. ลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เหลือเพียงพอจะนำไปชำระหนี้ และวินัยการก่อหนี้ของคนไทยก็ควรปรับเปลี่ยน เช่น ชาวนาเมียนมา และเวียดนาม ยังใช้แรงงานสัตว์เพื่อช่วยลดต้นทุน และ 2. ยกระดับผลผลิตต่อไร่
*จีนครองอันดับ 1 ไทยอยู่อันดับ 6 การผลิตข้าวของโลก
– ปี 65 ประเทศผู้ผลิตข้าวมากที่สุดของโลก คือ ประเทศจีน โดยผลิตข้าวสารได้ 145,946 พันตัน คิดเป็นสัดส่วน 28.5% ของการผลิตข้าวสารโลก อย่างไรก็ตาม การผลิตข้าวสารของจีนลดลง 2% เมื่อเทียบกับปี 64 และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปี 61-65 ลดลง 0.4%
– อินเดีย ผลิตข้าวสารได้มากเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยผลิตข้าวสารได้ 136,000 พันตัน คิดเป็นสัดส่วน 26.5% ของการผลิตข้าวสารโลก ซึ่งการผลิตข้าวสารของอินเดียเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปี 64 และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปี 61-65 ที่ 3.8%
– เวียดนาม ผลิตข้าวสารเป็นอันดับ 5 ของโลก ผลิตข้าวสารได้ 27,000 พันตัน คิดเป็นสัดส่วน 5.3% ของการผลิตข้าวสารโลก เวียดนามผลิตข้าวสารเพิ่มขึ้น 0.9% เมื่อเทียบกับปี 64 แต่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปี 61-65 ลดลง 0.5%
– ไทย ผลิตข้าวสารเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยผลิตข้าวสารได้ 20,200 พันตัน คิดเป็นสัดส่วน 3.9% ของการผลิตข้าวสารโลก ซึ่งไทยผลิตข้าวสารเพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบกับปี 64 แต่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปี 61-65 ลดลง 0.1%
*อินเดีย ไทย เวียดนาม ส่งออกข้าว 3 อันดับแรกของโลก
– ประเทศผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดของโลกในปี 65 คือ อินเดีย ไทย และเวียดนาม ตามลำดับ ประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญของอินเดีย คือ บังกลาเทศ ซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน ส่วนประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญของไทยในปี 65 คือ อิรัก สหรัฐฯ แอฟริกาใต้ และจีน ขณะที่เวียดนาม มีคู่ค้าที่สำคัญ คือ ฟิลิปปินส์ กานา และจีน
– ประเทศอาเซียนที่ส่งออกข้าวไปโลกมากที่สุดในปี 65 ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา โดยส่งออกเป็นมูลค่า 3,548 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2,186 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 406 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 394 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ทั้งนี้ ประเทศจีนเป็นประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญ ทั้งกับไทยและเวียดนาม รวมไปถึงเมียนมา และกัมพูชาด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ค. 66)
Tags: จำนำข้าว, ทุเรียน, ประกันรายได้, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, อัทธ์ พิศาลวานิช, เกษตรกร