นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) เปิดเผยว่า
ขณะที่กิจกรรมและอีเว้นท์ต่างๆ ของมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ทาง JKN ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เป็นการจัดกิจกรรมของทางผู้ถือลิขสิทธิ์ในประเทศไทยกับผู้จัดงานรายอื่น ซึ่งในประเด็นต่างๆที่เกิดขึ้นกับมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ รวมถึงการยกเลิกงาน MU MAX ทาง JKN ไม่ได้รับผลกระทบ และการประกวดมิสยูน์เวิร์ส 2023 จะยังคงมีการจัดที่ประเทศเอสซัลกวาดอร์ ในช่วงเดือนพ.ย. 66
นายจักรพงษ์ กล่าวว่า นโยบายการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม JKN Group มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจองค์กรมิสยูนิเวิร์ส (Miss Universe Organization หรือ MUO) เป็นแกนหลักขับเคลื่อนองค์กรสู่ Global Content Commerce Company ตามวิสัยทัศน์ที่ได้วางไว้ โดยได้ปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจรองรับแผนงานดังกล่าวให้สอดคล้องการดำเนินกลยุทธ์เชิงรุก เพื่อนำแบรนด์ MUO มาใช้ในการต่อยอดสร้างความเข้มแข็งให้แก่การดำเนินธุรกิจ
ขณะเดียวกันยังได้ผสานจุดแข็งจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญธุรกิจของ JKN ในฐานะที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรมจำหน่ายคอนเทนต์ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เกิดการ Synergy นำความพร้อมด้าน Ecosystem ของกลุ่มธุรกิจภายใต้JKN Group ซึ่งเป็นเจ้าของสถานีทีวีดิจิทัล JKN18 JKNCNBC และ JKN Hi Shopping ที่ออกอากาศผ่าน IPTV ตลอดจนทีมบุคลากรเพื่อรองรับแผนงานนำความแข็งแกร่งของแบรนด์ Miss Universe มาช่วยขับเคลื่อนสร้างผลการดำเนินงานให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
กลุ่มธุรกิจ MUO จะเป็นพลังสำคัญต่อยอด โดยนำแบรนด์ Miss Universe ซึ่งเป็นแบรนด์ที่เป็นที่ยอมรับของโลกมายาวนานกว่า 72 ปี มาสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ภายใต้กลยุทธ์ 3P ได้แก่ Pageant Platform Product ต่อยอดการประกวดนางงามจักรวาลที่เป็นเวทีประกวดอันดับ 1 ของโลกที่มีตัวแทนจากสาวงามประเทศต่างๆกว่า 96 ประเทศทั่วโลกส่งเข้าประกวด ยอดผู้ชมการประกวดแต่ละปีมากกว่า 1,000 ล้านคน เพื่อพัฒนา Platform สร้างพลัง Female Empowerment Platform ให้เป็นแพลตฟอร์มสร้างแรงบันดาลใจและสร้างสัญลักษณ์ (Iconic) ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงให้แก่ผู้หญิงทั่วโลก และต่อยอดพัฒนาสู่ Product และบริการที่หลากหลายสอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่
ด้านการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจ MUO มีแนวทางสร้างรายได้ 9 ด้าน ได้แก่
Franchise Fee รายได้จากค่าลิขสิทธิ์ในการจัดประกวดที่เรียกเก็บจากแต่ละประเทศในการจัดการประกวดนางงามเพื่อหาตัวแทนเข้าร่วมประกวด Miss Universe
Hosting Fee รายได้จากค่า License ที่เรียกเก็บจากประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดการประกวด
Production Fee รายได้จากการรับจ้างผลิตงานประกวด
Broadcast Fee รายได้จากการให้ License ในการเผยแพร่สัญญาณการจัดการประกวดในแต่ละประเทศ
Ticket Sales รายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมการประกวดทั้งงาน Event
และ Online Sponsorship Fee รายได้ที่เกิดจากผู้สนับสนุนการจัดการประกวด และ Licensing & Merchandising Fee รายได้จากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ หรือให้สิทธิ์ผลิตสินค้าหรือบริการภายใต้แบรนด์หรือเครื่องหมายการค้าต่างๆ ของ MUO เป็นต้น
นายจักรพงษ์ กล่าวว่า การต่อยอดธุรกิจ MUO ไปสู่ผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ บริษัทฯ จะเลือกโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมเอื้อต่อการเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มที่ ผ่านรูปแบบทั้งการลงทุนพัฒนาสินค้าและบริการภายใต้บริษัทย่อยของ JKN Group หรือเป็นรูปแบบให้สิทธิใช้แบรนด์ Miss Universe แก่พันธมิตรเชิงกลยุทธ์ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้อาณาจักรจักรวาล เช่น กลุ่มธุรกิจ M*U Beverage ที่ดำเนินงานภายใต้บริษัท JKN Drink ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100% เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ M*U และน้ำแร่อัลคาไลน์ธรรมชาติระดับพรีเมียมภายใต้แบรนด์ M*U NØR ทำตลาดภายในประเทศและเตรียมเปิดตัวในตลาดต่างประเทศต่อไป
นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อดำเนินธุรกิจสกินแคร์และสปา ผ่านรูปแบบการให้สิทธิแบรนด์Miss Universe แก่บริษัท Miss Universe Skincare & Spa ที่จัดตั้งขึ้นในประเทศสหรัฐ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งจะเริ่มขายในสหรัฐ ในช่วงเดือนต.ค. 66 ซึ่งจะเริ่มจำหน่ายสินค้าสกินแคร์สหรัฐประเทศแรก ก่อนที่จะขยายไปยังประเทศฟิลิปปินส์ ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะต้องมีการขอองค์การอาหารและยา (อย.) ของประเทศนั้นๆ รวมถึงประเทศไทยที่คาดว่าจะจำหน่ายได้ในช่วงต้นปี 67 หลังผ่านการอนุมัติจากอย. โดยได้รับค่าตอบแทนการให้สิทธิคิดเป็นมูลค่า 350 ล้านบาท/ปี และได้รับหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้น คิดเป็น 30% ส่งผลดีต่อการรับรู้รายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว
ขณะเดียวกันมีแผนเปิดตัว Miss Universe Travel เพื่อดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวทั้ง Inbound และ Outbound จับกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์ เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของโลกและของไทยฟื้นตัวดีขึ้นหลังโควิด-19 คลี่คลายโดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปีนี้
นายจักรพงษ์ กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก จากธุรกิจมิสยูนิเวิร์สที่จะสร้างรายได้เข้ามามากขึ้น ทั้งการจัดประกวด การขายเครื่องดื่ม การขายสกินแคร์ และการเริ่มธุรกิจทัวร์ ประกอบกับจะเริ่มมีรายได้เข้ามาจากค่ามัดจำในการจัดประกวดมิสยูนิเวิร์สเพิ่มอีก 5 ประเทศ ซึ่งจะมีการประกาศบนเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สปี 2023 อีกครั้งในช่วงเดือนพ.ย.นี้ โดยที่รายได้ที่เกิดจากกลุ่มธุรกิจมิสยูนิเวิร์สจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท/ปี โดยจะช่วยผลักดันรายได้ของ JKN ในปี 66 ตามเป้าเติบโต 27% หรืออยู่ที่ 3.4 พันล้านบาท และมีอัตรากำไรขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 40%
ด้านช่อง JKN18 หลังจากมีการปรับรูปแบบของช่องให้มีความหลากหลายในช่วงปลายปี 65 ทั้งรายการข่าว ซีรีย์สารคดี กีฬาที่เน้นไปด้านมวย และสปอร์ตแอคชั่น ทำให้เรตติ้งของช่อง JKN18 ปรับเพิ่มขึ้นมาเทียบเท่าช่องที่ขนาดกลางทำให้ช่อง JKN18 มีฐานผู้ชมสูงขึ้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัด และเป็นช่องหลักที่คนชอบดูมวยสามารถเปิดมาดูได้ ประกอบกับในช่วง Non-Prime time ยังมีการนำรายการของ JKN Hi Shopping เข้ามาเสริม ทำให้สามารถขายสินค้าอื่นๆในกลุ่มJKN ได้เพิ่มเติม ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทได้เดินเครื่องช่อง JKN18 อย่างเต็มที่ เพื่อสร้างรายได้ โดยเฉพาะรานได้จากค่าโฆษณาที่มีเอเจนซี่โฆษณาให้ความสนใจเข้ามาโฆษณามากขึ้น ซึ่งปัจจุบันอัตราค่าโฆษนาช่อง JKN18 ในช่วง Prime time เฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 บาท/นาที และช่วง Non- Prime time เฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 บาท/นาที
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 66)
Tags: JKN, Miss Universe, MUT, TPN Global, จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์, ทีพีเอ็น โกลบอล, มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์, เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป