KCG เคาะราคา IPO 8.50 บาท P/E 17.33 เปิดจอง 20-24 ก.ค.ผู้บริหาร-ผู้ถือหุ้นเดิมตกลงล็อกหุ้น

บมจ.เคซีจี คอร์ปอเรชั่น (KCG) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 155 ล้านหุ้นที่หุ้นละ 8.50 บาท จากมูลค่าที่ตราไว้ (Par value) 1.0 บาทต่อหุ้น มูลค่าการเสนอขาย 1,317.50 ล้านบาท ระยะเวลาจองซื้อ 20-21 และ 24 ก.ค.66 โดยจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หมวดอาหารและเครื่องดื่ม ช่วงต้นเดือน ส.ค. ขณะที่ บล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

KCG ได้แต่งตั้ง บล.บัวหลวง เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์อีก 3 ราย เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของ KCG ประกอบด้วย บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง, บล.กรุงศรี และ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)

ที่มาของการกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ได้มีการพิจารณาจากการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book Building) จากนักลงทุนสถาบัน และหากพิจารณาผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (วันที่ 1 เม.ย.65-31 มี.ค.66) ซึ่งเท่ากับ 267.28 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดหลังจากการเสนอขาย (Fully Diluted) ซึ่งเท่ากับ 545 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.49 บาทต่อหุ้น จะคิดเป็นอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: P/E) ประมาณ 17.33 เท่า ขณะที่บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมีค่า P/E ดังนี้ NSL 21.55 เท่า, SNP 18.87 เท่า, XO 25.90 เท่า, PB 16.59 เท่า, SNNP 40.12 เท่า, TKN 26.41 เท่า, PM 20.04 เท่า

สัดส่วนหุ้นของ “ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร” ที่ไม่ติด silent period จำนวน 79,690,000 หุ้น คิดเป็น 14.6% ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ แต่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทยกเว้น นายวิจัย วิภาวัฒนกุล ได้เข้าทำหนังสือข้อตกลงจำกัดสิทธิในการขายหรือโอนหุ้นทั้งหมด 180 วัน และกรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ (ที่ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ) ที่ได้รับการจัดสรรและจองซื้อหุ้น IPO ทำข้อตกลงจำกัดสิทธิขาย-โอนเป็นเวลา 90 วัน

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง กล่าวว่า เงินที่ได้จากการระดุมครั้งนี้ KCG จะนำไปใช้สร้างศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า ขยายกำลังการผลิต ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่วนที่เหลือจะนำไปชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน

“การกำหนดราคาหุ้น IPO ของ KCG ที่ราคา 8.50 บาทต่อหุ้น พิจารณาจากการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book Building) ของนักลงทุนสถาบัน ซึ่งถือว่าเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง แผนการลงทุนและศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่ง KCG นับว่าเป็นธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานมั่นคง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สอดรับกับการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวและร้านอาหารและเบเกอรี่ต่างๆ ความนิยมในการบริโภคอาหารตะวันตกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใส่ใจดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น จึงทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์จากชีสและเนยมากขึ้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การบริโภคอาหารตะวันตกขยายตัวอย่างเนื่อง” 

นายพิเชษฐ กล่าว

นายวาทิต ตมะวิโมกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ KCG กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้นำการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเนย ชีส บิสกิต และส่วนประกอบอาหารและเบเกอรี่ที่หลากหลาย อีกทั้ง บริษัทยังเป็นผู้นำเข้าเนย ชีส วัตถุดิบเบเกอรี่และอาหารตะวันตกจากหลากหลายแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก

บริษัทมีวิสัยทัศน์ในการเป็นบริษัทชั้นนำในการนำเสนอผลิตภัณฑ์จากนมและอาหารรสเลิศ รวมทั้งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่มุ่งมั่น เพื่อการดำเนินชีวิตที่ทันสมัย มอบผลิตภัณฑ์ที่สร้างความรื่นรมย์ให้กับรสชาติอาหารที่มีคุณภาพในทุกช่วงมื้ออาหารของผู้บริโภค ตลอดจนการจัดหาวัตถุดิบและคัดสรรแบรนด์ชั้นนำจากทั่วทุกมุมโลก สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“การระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้ KCG เพิ่มขีดความสามารถในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งขยายกำลังการผลิตตลอดจนการก่อสร้าง “KCG Logistics Park” หรือศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าแบบแช่แข็ง (Frozen) และแบบอุณหภูมิห้อง (Ambient) ซึ่งมีความทันสมัยและครบวงจร เพื่อรองรับการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันจะช่วยผลักดันการขยายธุรกิจของ KCG ให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำการผลิตและนำเข้าผลิตภัณฑ์เนย ชีส และอาหารสำเร็จรูปชั้นนำจากทั่วโลก ที่มีคุณภาพรายใหญ่ของประเทศไทย”

นายวาทิต กล่าว

นายดำรงชัย วิภาวัฒนกุล รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส KCG กล่าวว่า แผนขับเคลื่อนธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน บริษัทฯ วาง 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1) นำเทคโนโลยีมายกระดับกระบวนการผลิต โดยลงทุนในเครื่องจักรระบบอัตโนมัติ (Automation) เพื่อขยายกำลังการผลิต (Capacity Expansion) ผลิตภัณฑ์ชีสภายในปีนี้ จากเดิม 2,106 ตันต่อปี เป็น 4,212 ตันต่อปี และในปี 67 จะเดินหน้าขยายกำลังการผลิตเนยที่โรงงานเทพารักษ์ให้เพิ่มเป็น 23,261 ตันต่อปี จากเดิม 18,596 ตันต่อปี ในปี 64

รวมถึงการลงทุนเครื่องจักรใหม่และปรับพื้นที่สร้างห้องปลอดเชื้อที่โรงงานบางพลี และยังได้เตรียมปรับพื้นที่ติดตั้งเครื่องจักรระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2571 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง และบริหารต้นทุนการผลิตให้ลดลงและเพื่อรองรับการเติบโต นอกจากนี้ KCG ยังมีการลงทุนเพื่อสร้างและพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า KCG Logistics Park สำหรับเพิ่มพื้นที่ในการจัดเก็บและบริหารจัดการสินค้าให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ

2) พัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ โดยบริษัทฯ ได้แต่งตั้งทีมงานด้านนวัตกรรม (Innovation Management) สำหรับการพัฒนานวัตกรรมใหม่โดยเฉพาะ รวมทั้งยังได้เพิ่มกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มียอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นสูง (SKU rationalization) เพื่อบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมุ่งมั่นศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อพัฒนาหรือลงทุนในผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในอนาคต

3) สร้างช่องทางการจำหน่ายที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับลูกค้ากลุ่มผู้บริโภค (B2C) บริษัทฯ วางแผนขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เช่น Lazada, Line Official, Freshket, Shopee, Pandamart เป็นต้น ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ บิสกิต เพื่อวางจำหน่ายในร้าน BAO café พร้อมทั้งนำผลิตภัณฑ์กลุ่มชีสและเนยวางจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ Lawson 108 รวมทั้งขยายช่องทางตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ของพันธมิตรประมาณ 2,500 ตู้ทั่วประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังเดินหน้ายกระดับการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ (B2B) เช่น ผู้ให้บริการด้านอาหาร ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร จัดเลี้ยง (HORECA) เป็นต้น และกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหาร ผ่านการจัดหาผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจรบนแพลตฟอร์มบริการด้านโลจิสติกส์ (Logistics) แบบออนไลน์ โดยมีการพัฒนาระบบ Cold Chain Fulfillment ซึ่งเป็นการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าได้หลากหลายประเภท และมุ่งขยายฐานลูกค้าอย่างแข็งแกร่ง

ขณะที่แผนการขยายตลาดต่างประเทศผ่านตัวแทนจัดจำหน่าย บริษัทฯ เตรียมต่อยอดจากการเป็นผู้นำในการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทย โดยมุ่งขยายธุรกิจในประเทศอินเดีย จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง จากในปัจจุบันที่ส่งออกไปยัง 15 ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ เวียดนาม กัมพูชา พม่า อินเดีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ รวมถึงวางแผนขยายพันธมิตรทางธุรกิจกับตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม เป็นต้น เพื่อขยายฐานการจัดจำหน่ายสินค้า และเพิ่มความแข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ โดยวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการส่งออกเป็นร้อยละ 10 ของรายได้จากการขาย ภายในปี 2568

4) ขยายธุรกิจผ่านการควบรวมกิจการ (M&A Opportunities) โดยจะมุ่งสร้างการเติบโตทั้งในและต่างประเทศผ่านการร่วมทุน (Joint Venture) หรือการควบรวมกิจการ (M&A) โดยเน้นธุรกิจที่มีเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และแผนกลยุทธ์ที่เสริมศักยภาพการเติบโตให้แก่ KCG อาทิ ธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) เช่น ผู้ผลิตวัตถุดิบไขมันนม ชีส น้ำมันปาล์ม เป็นต้น

นายธวัช ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส KCG กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้พัฒนาสินค้าและนวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างความรื่นรมย์ในรสชาติและความสะดวกสบายในทุกมื้ออาหารของผู้บริโภค พร้อมทั้งจัดหาวัตถุดิบและคัดสรรแบรนด์ชั้นนำจากทุกมุมโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ KCG จึงครองความเป็นผู้นำในกลุ่มผลิตภัณฑ์เนยและชีสในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดผลิตภัณฑ์เนย 55.0% และชีส 31.6 และยังมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ใน 5 อันดับแรก สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกอบการทำเบเกอรี่และผลิตภัณฑ์บิสกิต (ข้อมูลจาก Euromonitor ปี 64)

ผลการดำเนินงานในปี 63-65 บริษัทมีรายได้รวม 4,950.0 ล้านบาท 5,265.0 ล้านบาท และ 6,232.7 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 244.2 ล้านบาท 303.4 ล้านบาท และ 241.1 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยการเติบโตมาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทุกประเภทให้กับกลุ่มผู้บริโภค (B2C) กลุ่มผู้ประกอบการ (B2B) และการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เติบโตเพิ่มขึ้น

ขณะที่ผลดำเนินงาน 3 เดือนแรกของปี 66 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,723.3 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 58.4 ล้านบาท โดยรายได้รวมและกำไรสุทธิเติบโตจากงวด 3 เดือนแรกของปี 65 อัตรา 30.6% และ 81.4% ตามลำดับ โดยหลักมาจากยอดขายผลิตภัณฑ์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม คิดเป็น 58.4-60.6% ผลิตภัณฑ์สำหรับการประกอบอาหารและเบเกอรี่ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 26.5-30.5% และผลิตภัณฑ์บิสกิต คิดเป็น 10.4-13.4% ของรายได้จากการขาย และหากพิจารณารายได้จากการขายแบ่งตามช่องทางการจัดจำหน่าย บริษัทฯ มีรายได้จากการขายให้แก่กลุ่มผู้บริโภค (B2C) กลุ่มผู้ประกอบการ (B2B) และการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 53.9-59.4% 36.7-41.5% และ 3.6-5.2% ของรายได้จากการขาย ตามลำดับ

นางกนกวรรณรัตน์ ศรีมณีศิริ รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานบัญชีและการเงิน KCG เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทมีแผนจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อผลักดันให้ยอดขายปีนี้โต 18% ตามเป้าหมาย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ค. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top