ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มิ.ย. ขึ้นต่อเนื่อง-สูงสุดรอบ 40 เดือน รับท่องเที่ยวฟื้นชัด กังวลการเมือง-ส่งออก

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิ.ย. 66 อยู่ที่ระดับ 56.7 ปรับตัวดีขึ้นจากในเดือนพ.ค. ที่ 55.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 40 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 63 เป็นต้นมา

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 51.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 53.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 65.1 ซึ่งดัชนีทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ 1. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น 2. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดีเกือบทุกรายการสำคัญ 3. ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังคงทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา และ 4. เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย

ขณะที่ยังมีปัจจัยลบ ได้แก่ 1. ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง 2. ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง 3. การส่งออกของไทยยังติดลบ 4. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และ 5. สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 40 เดือนนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 63 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลงทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการอย่างมีนัยสำคัญ

“ปีนี้หอการค้ายังไม่ประเมินว่าภัยแล้งเป็นปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากยังไม่มีท่าทีที่ชี้ให้เห็นว่า ฝนตกขาดช่วงหรือไม่มีฝนในปีนี้ อย่างไรก็ดี หอการค้าฯ คาดว่าถ้ามีความเสียหายสูงสุดน่าจะไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจแค่ 0.2% ดังนั้น จึงไม่เป็นปัจจัยหลักสำคัญ” นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งและเสถียรภาพทางการเมืองรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูงโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สถาบันการเงินของโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค

ทั้งนี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังคงเห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าค่าครองชีพสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top