นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนก.ค.63 อยู่ที่ 49,564 คัน ลดลง 39.67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่งออกลดลงทุกตลาด
เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในประเทศคู่ค้าลดลงจากการระบาดของโควิด-19 เช่น ยุโรป, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และบราซิล เป็นต้น อย่างไรก็ดี อัตราการลดลงของเดือนก.ค.63 น้อยกว่าเดือนมิ.ย.63 ตามการค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ
ทั้งนี้ ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.63) มียอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปทั้งสิ้น 400,114 คัน ลดลง 37.68% จากช่วงเดียวกันของปี 62 คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 216,828 ล้านบาท ลดลด 33.39% จากช่วงเดียวกันของปี 62
ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนก.ค.63 มีจำนวนทั้งสิ้น 59,335 คัน ลดลงจากช่วยเดียวกันของปีก่อน 24.8% แต่เพิ่มขึ้น 2.28% จากเดือนมิ.ย.63 เพราะรัฐบาลผ่อนคลายล็อกดาวน์มากขึ้น รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และจากการจัดงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ กลางเดือนก.ค. ทั้งนี้ ทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 379,123 คัน ลดลง 35.6% จากช่วงเดียวกันของปี 62
นายสุรพงษ์ ยังกล่าวด้วยว่า ยอดการผลิตรถยนต์ในเดือนก.ค.63 อยู่ที่ 89,336 คัน ลดลง 47.71% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตเพื่อส่งออกลดลง 47.42% และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง 47.98% แต่ทั้งนี้ ยอดการผลิตเพิ่มขึ้น 24.59% จากเดือนมิ.ย.63 เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ส่วนใหญ่กลับมาเปิดทำการ และโรงงานเริ่มเปิดสายการผลิตเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ส่งผลให้รถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 695,468 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 43.77%
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หากภายในประเทศไม่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบสอง สถิติในเดือน เม.ย.63 ถือว่าน่าจะต่ำสุดแล้ว โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากสามารถผลิตรถยนต์ได้เดือนละ 9.5 หมื่นคัน จะส่งผลให้ยอดการผลิตในปีนี้เกิน 1 ล้านคัน
ขณะที่ยอดขายในประเทศจะเป็นไปได้ตามเป้าหมาย 7 แสนคันแน่นอน ส่วนยอดส่งออกนั้นยังไม่มั่นใจว่าจะถึง 7 แสนคันหรือไม่ เนื่องจากเศรษฐกิจในต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัว เพราะยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกรถยนต์ จะลดลงจากเป้าหมาย 1 ล้านล้านบาท มาเหลืออยู่ที่ 6-7 แสนล้านบาท
ส่วนผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อหรือไม่ เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี
“เมื่อตอนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ต้องใช้เวลาฟื้นตัวถึง 5 ปี แต่วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบทั่วโลก และไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อไปถึงไหน ต้องใช้เวลาฟื้นตัวอย่างน้อย 5 ปี”
นายสุรพงษ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ส.ค. 63)
Tags: รถยนต์, ส.อ.ท., ส่งออก, สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์, อุตสาหกรรมยานยนต์