ไทย-อียู ได้ฤกษ์ฟื้นเจรจา FTA นัดแรก 18 ก.ค.นี้ หลังหยุดไป 10 ปี ตั้งเป้าจบในปี 68

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่ตนและนายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้าของสหภาพยุโรป (อียู) ได้ร่วมกันประกาศนับหนึ่งเปิดการเจรจา FTA ไทยกับสหภาพยุโรปเมื่อกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุดตนได้มอบหมายให้นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมและเชิญหัวหน้าคณะเจรจา FTA ฝ่ายอียูมาหารือในวันที่ 18 ก.ค.นี้ ที่กรุงเทพฯ เพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการการเจรจา FTA ในภาพรวม ก่อนที่ฝ่ายอียูจะเป็นเจ้าภาพการเจรจารอบแรกแบบเต็มคณะในช่วงเดือน ก.ย.66 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียมต่อไป

นายจุรินทร์ กล่าวว่า การรื้อฟื้นการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับอียูเป็นนโยบายสำคัญที่ตนมอบให้กระทรวงพาณิชย์นับเป็นความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ที่ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายกลับมาหารือกันอีกครั้งหลังจากที่หยุดการเจรจาไปเกือบ 10 ปี

FTA ไทย-อียูเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนไทยเรียกร้อง และไทยจะได้รับประโยชน์จากการจัดทำ FTA เช่น ภาษีการส่งออกสินค้าไทยไปอียูจะเป็นศูนย์ สามารถแข่งขันด้านราคาและมีแต้มต่อกับประเทศที่ไม่ได้ทำ FTA กับอียู และทำให้ภาคการผลิตลดต้นทุนการผลิตได้ โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ เกิดการแลกเปลี่ยนการลงทุนระหว่างกัน ไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม และช่วยดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุนในไทยอีกด้วย โดยตั้งเป้าเจรจาให้เสร็จภายใน 2 ปี คือ ภายในปี 68

ด้านนางอรมน กล่าวว่า ได้เชิญนายคริสตอฟ คีแนร์ หัวหน้าคณะเจรจาของฝ่ายอียูในการเจรจา FTA ไทย-อียู มาร่วมหารือเฉพาะในระดับหัวหน้าคณะ เพื่อให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการบริหารจัดการการเจรจา FTA ไทย-อียู เช่น แผนงานการเจรจา ระเบียบวิธีการประชุม รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มเจรจาในแต่ละประเด็น อาทิ การค้าสินค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช พิธีการด้านศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า การค้าบริการและการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การแข่งขัน รัฐวิสาหกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ความโปร่งใส กลไกระงับข้อพิพาท การค้าดิจิทัล พลังงานและวัตถุดิบ SMEs หลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ

ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (61-65) การค้าระหว่างไทยและอียูมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 38,523.56 ล้านดอลลาร์ โดยปี 65 อียูเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย ส่วนในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.66) การค้าระหว่างไทยและอียูมีมูลค่า 17,598.04 ล้านดอลลาร์ โดยส่งออกไปอียูมูลค่า 9,392.30 ล้านดอลลาร์ และนำเข้าจากอียูมูลค่า 8,205.74 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top