กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของญี่ปุ่นเผยแพร่คู่มือแนวปฏิบัติในวันนี้ (3 ก.ค.) ซึ่งอนุญาตให้โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น และโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ใช้ปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง (Generative AI) เช่น แชตจีพีที (ChatGPT) ได้ แต่สามารถใช้ได้อย่างจำกัด
แนวปฏิบัติดังระบุว่าให้ระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับการใช้งานในกลุ่มนักเรียนประถมศึกษา พร้อมชี้ว่าการใช้เอเอไอช่วยทำงานที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียน แล้วนำมาส่งโดยอ้างว่าทำเอง จะถือว่าเป็นการโกง
แม้ว่าแนวปฏิบัติจะตระหนักถึงความสำคัญของการที่นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในเอไอและการใช้งานเอไอมากขึ้น แต่ก็มีความกังวลว่าเอไออาจส่งผลเสียต่อการคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์และทักษะอื่น ๆ ของนักเรียนด้วยเช่นกัน
อนึ่ง แนวปฏิบัตินี้ยังเป็นเพียงแผนชั่วคราวและอนุญาตให้ใช้อย่างจำกัดในเบื้องต้นเท่านั้น โดยกระทรวงฯ จะคัดเลือกโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ทดลองใช้เอไอ และวางแผนแก้ไขแนวปฏิบัติโดยอิงจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
แนวปฏิบัติได้คาดการณ์ว่า เอไอจะช่วยพัฒนาผลการเรียน แต่การใช้เอไอก็มีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ และอาจลดทอนความคิดสร้างสรรค์และแรงจูงใจในการศึกษาเรียนรู้ของนักเรียนได้
นอกจากนี้ การให้ความรู้แก่เด็ก ๆ ในเรื่องประเด็นด้านจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับเอไอเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเอไอเป็นสิ่งที่สามารถใช้งานได้ในทุก ๆ ที่
แนวปฏิบัติยังได้สรุปตัวอย่างการใช้เอไอที่ไม่เหมาะสม ซึ่งรวมถึง นักเรียนที่ส่งงานที่เอไอสร้างโดยอ้างว่าทำเอง หรือการใช้เอไอระหว่างการสอบ ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งสำคัญก็คือนักเรียนจะต้องไม่ใส่ข้อมูลส่วนบุคคลลงไปในเรื่องมือเอไอ และจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านลิขสิทธิ์ด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.ค. 66)
Tags: AI, ญี่ปุ่น, โรงเรียน