นายบรรณัช นาคพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซี.ไอ. กรุ๊ป (CIG) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา CIG ปรับโครงสร้างกิจการ โดยได้มีการเข้าซื้อกิจการ การร่วมทุน การเพิ่มทุนและระดมทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการปรับเปลี่ยนผู้ถือหุ้นและเริ่มปรับเปลี่ยนธุรกิจ โดยมีประกาศการซื้อกิจการเข้ามาหลายครั้ง แต่ขณะเดียวกันยังมีข้อสงสัยจากหลายส่วนว่าบริษัทฯ จะเดินไปในทิศทางใดและมีแนวทางการกอบกู้สถานการณ์และสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจในอนาคตได้อย่างไร
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ต่อยอดจากธุรกิจหลักโดยใช้ประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ในการผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น มาพัฒนาและก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ออกแบบทางวิศวกรรมและสร้างโซลูชั่นส์สำหรับห่วงโซ่อุปทานการควบคุมอุณหภูมิ (Temperature Controlled Supply Chain) รวมถึงระบบการทำความเย็นให้กับ ศูนย์ข้อมูลระบบดิจิทัล (Data Center) ที่ผ่านมาเราก็มีลูกค้าโครงการอยู่จำนวนมาก ซึ่งเรามองเห็นศักยภาพจากจุดแข็งของเรา ที่พร้อมจะต่อยอดในการสร้างมูลค่าของธุรกิจให้สูงขึ้น
ดังนั้นในช่วงปี 65 บริษัทจึงเริ่มมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ (Strategic Partner) ที่มีความรู้และศักยภาพที่จะส่งเสริมให้บริษัทฯสามารถส่งเสริมจุดแข็งข้างต้น ประกอบกับการขยายกิจการออกไปอย่างแข็งแกร่ง โดยการเข้าลงทุนใน บริษัท อิมแพ็ค กรีน ยูทิลิตี้ โฮลดิ้ง จำกัด (IGU) ซึ่งมี นายสุรเชษฐ์ ชัยปัทมานนท์ เป็นรองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการบริหารความเสี่ยง บมจ. ไพร์ม โรด เพาเวอร์ (PRIME) อดีต Head Financial Institution Group (Southeast Asia), J.P. Morgan Chase & Co. , Regional Office in Singapore มาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญ
การลงทุนของ IGU นั้นจะมุ่งเน้นด้านการพัฒนาธุรกิจเพื่อให้เกิดอุปสงค์ (Demand) ด้านพลังงานใหม่ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับยานยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อการจัดการขนส่งและห่วงโซ่อุปทาน (Electric Vehicles for Logistic and Supply Chain Management) และการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสีเขียวสำหรับผู้ผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (Zero Carbon Industrial Estate) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เกิดอุปทาน (Supply) ด้านพลังงานที่มีศักยภาพสูงขึ้นและต้นทุนต่ำลง เช่น ระบบการเก็บพลังงานโดยใช้แบตเตอรี่ (Energy Storage System: ESS)
นอกจากนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้อนุมัติให้ บริษัท ซีไอจี ยูทิลิตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ จำกัด (CIGU) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ รับโอนกิจการทั้งหมดจาก บริษัท กู๊ด เวนเจอร์ส จำกัด กิจการที่ CIGU รับโอนมาทั้งหมดในครั้งนี้ เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการขนส่ง (Logistics Platform) ซึ่งมีชื่อว่า “VE Logistics Platform” ให้บริการจัดการด้านการขนส่งสินค้า (Logistics) ไปยังจุดหมายปลายทางด้วยวิธีการขนส่งผ่านยานยนต์ ทั้งยานยนต์พลังงานไฟฟ้าและยานยนต์รูปแบบอื่นด้วยแอปพลิเคชันที่จะช่วยขับเคลื่อนให้การขนส่งมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และตรงเวลา ซึ่งมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของธุรกิจต่าง ๆ เป็นอย่างมาก
VE Logistics Platform นี้จะได้รับการพัฒนาเพื่อมุ่งเน้นการให้บริการแก่ธุรกิจด้าน Cold Chain Logistics เป็นหลัก ซึ่งเป็นธุรกิจที่จะสามารถต่อยอดธุรกิจหลักของบริษัทฯ ทั้งในด้านการพัฒนารถบรรทุกห้องเย็น (Cold Chain Trucks) รถกระบะห้องเย็น และการก่อสร้างคลังสินค้าห้องเย็น ตลอดจนสามารถเสริมสร้างศักยภาพในการเติบโตของกิจการ และความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทฯ ในระยะยาว บริษัทฯ เข้ารับโอนกิจการเพื่อวัตถุประสงค์ในการต่อยอดธุรกิจหลัก ซึ่งการรับโอนเฉพาะ VE Logistics Platform มีความเสี่ยงต่ำกว่าการซื้อการกิจการทั้งหมดของผู้โอน
ด้านนายสิทธิพร รัตโนภาส อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ดังกล่าว ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าภายใต้แรงกดดันด้านราคาพลังงานจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนส่งผลกระทบอย่างมีนัย สำคัญ ต่อ ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่ต้นทุนด้านการผลิตของพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก็มีต้นทุนลดลงจากสมัยก่อน แต่อย่างไรก็ดีไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ผลิตแล้วต้องใช้ทันทีส่งผลให้เสถียรภาพของพลังงานทดแทนยังเป็นประเด็นหลักที่ยังต้องแก้ไข ซึ่งในปัจจุบันระบบการเก็บพลังงานโดยใช้แบตเตอรี่ (Energy Storage System: ESS) เพื่อสะสมพลังงานทดแทนไว้ใช้ในช่วงเวลาที่ต้องการยังมีราคาสูงมาก เมื่อเทียบกับวิธีการผลิตไฟฟ้าด้วยวัตถุดิบอื่นๆ
อย่างไรก็ดีธุรกิจยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อการจัดการขนส่งเป็นแนวทางหนึ่งที่นอกจากจะสามารถเพิ่มอุปสงค์ด้านกระแสไฟฟ้า (Power Demand) ให้กับ IGU ยังเพิ่มเสถียรภาพให้กับกิจการพลังงานทดแทนของ IGU อีกด้วย
สำหรับรถบรรทุกหัวลากขนาดใหญ่ที่เตรียมนำเข้ามาจาก Geely เบื้องต้นประมาณ 100 คันนั้นมีความต้องการพลังงานไฟฟ้ากรณีพลังงานแสงอาทิตย์ประมาณ 25 เมกะวัตต์ ซึ่งรถบรรทุกหัวลากขนาดใหญ่ดังกล่าวต้องมีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่เป็นส่วนประกอบและการมี Battery SWAP Station ทำให้ต้องมีแบตเตอรี่สำรองสำหรับกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ซึ่งการใช้แบตเตอรี่เหล่านั้นสำหรับกักเก็บพลังงานไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนโครงการขนส่งทำให้ต้นทุนการขนส่งลดลง
โดยที่ในอนาคตหลังจากที่ยานยนต์พลังงานไฟฟ้ามีแบตเตอรี่รุ่นใหม่ๆ ออกมาทดแทน แบตเตอรี่รุ่นเก่าๆ เหล่านั้นก็จะถูกรีไซเคิล และเปลี่ยนมาใช้เป็นระบบการเก็บพลังงานโดยใช้แบตเตอรี่ (Energy Storage System: ESS) ได้ซึ่งจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับโครงการฯอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เกิดการ Synergy ระหว่าง IGU และ CIG นั้น เนื่องจาก รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้ามีศักยภาพสูงในการทำเป็นรถห้องเย็น หรือ รถตู้เย็น และ ศูนย์กระจายสินค้าห้องเย็น ซึ่งเป็น Expertise หลักของ CIG อีกทั้งทีมงาน Engineering ของ CIG ยังมีการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานรัฐในเรื่อง การประหยัดพลังงานทำให้ทีมงานมีความเข้าใจธุรกิจพลังงานอย่างมาก
“ทีมงานมีศักยภาพในการออกแบบ (Design) โครงสร้างของสถานีอัดประจุไฟฟ้า (DC Charging) และสถานีสลับแบตเตอรี่ไฟฟ้า (Battery SWAP Station) ที่มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ศูนย์กระจายสินค้าห้องเย็น และContainerตู้เย็นสำหรับยานยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนโครงการฯ สำหรับผมส่วนนี้เป็นจุดแข็งที่ซ่อนอยู่ใน CIG ที่ผมมีความประทับใจอย่างมากหลังจากได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว” นายสิทธิพรกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มิ.ย. 66)
Tags: CIG, ซี.ไอ. กรุ๊ป, บรรณัช นาคพันธ์, หุ้นไทย