นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า กลยุทธ์หลักของธนาคารในปี 63 จะมุ่งเน้นไปที่การดูแลติดตามลูกค้าลูกค้าเป็นหลัก หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกคนทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน และส่งผลกระทบมาถึงความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับธนาคาร ทำให้ธนาคารจะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการลูกค้าของธนาคารเป็นหลัก
แม้ว่าในปัจจุบันจะเป็นช่วงของมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบสามารถพักชำระเงินต้นได้ แต่ธนาคารจะต้องเตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนที่มาตรการช่วยเหลือลูกค้าจะสิ้นสุด เพื่อประเมินโอกาสของสถานการณ์ในระยะต่อไปที่จะเกิดขึ้น เพื่อทำให้ธนาคารมีความพร้อมในการรองรับกับสถานการณ์ข้างหน้า
ในการเตรียมความพร้อมของธนาคารนั้น คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังไตรมาส 3/63 และไตรมาส 4/63 จะมีการตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะความเสี่ยงของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจกาสถานการณ์โควิด และอาจจะไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้บางส่วนยังมีเกิดขึ้นได้ หลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ไปแล้ว โดยที่ในช่วงไตรมาส 1/63 และไตรมาส 2/63 ธนาคารได้ทยอยตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ได้ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/63 ที่ 106% มาอยู่ที่ 114% ในไตรมาส 2/63
ขณะที่แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในช่วงครึ่งปีหลังนี้คาดว่าจะยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปถึงปี 64 เนื่องจากปัจจุบันยังอยู่ในช่วงของมาตรการพักชำระหนี้ ทำให้ยังไม่เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง แต่หลังจากที่สิ้นสุดมาตรการแล้วจะเริ่มเห็นแนวโน้มของ NPL ที่จะมีโอกาสทยอยเพิ่มขึ้น เพราะยังมีลูกค้าและภาคธุรกิจบางกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นกลับมาได้ และลูกค้าบางรายยังตกงานอยู่ ทำให้ NPL ในช่วงครึ่งปีหลังจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/63 ที่ 2.3% ซึ่งธนาคารตั้งเป้าควบคุม NPL ให้ไม่เกิน 3% ในสิ้นปีนี้
“ปีนี้เราคงเน้นดูแลช่วยเหลือลูกค้าและควบคุมหนี้เสียเป็นหลัก จากโควิด-19 กระทบกับทุกคน และยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายทาง หลังจากหมด Debt Holiday แล้วก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะลูกค้าบางรายออาจจะยังไม่ฟื้นหรือยังไม่งานทำ ทำให้ธนาคารต้องเตรียมตัวช่วยเหลือลูกค้า และเตรียมแพ็คเกจที่เหมาะสมให้กับลูกค้าแต่ละราย หลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือไปแล้ว เพราะขาออกของแต่ละคนจะแตกต่างตามสถานการณ์ของลูกค้า ทำให้เราต้องเตรียมตัวล่วงหน้า เพราะหากหนี้เสียเกิดขึ้นมาก ก็กระทบกับทุนของธนาคาร และส่งผลมาให้ธนาคารไม่สามารถเดินหน้าธุรกิจรายได้ใหม่ๆเข้ามาได้” นายปิติ กล่าว
สำหรับสัดส่วนกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาตรการช่วยเหลือของธนาคารส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรถยนต์ที่มีสัดส่วน 40% สินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ 20% และส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอื โดยสัดส่วนลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ค่อนข้างมาก เพราะธนาคารเปิดกว้างให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเข้ามาตรการช่วยเหลือในช่วงแรก ซึ่งในส่วนนี้ส่งผลกระทบให้รายได้ของธนาคารหายไปจากรายได้ดอกเบี้ยของลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการหายไป
ส่วนแนวโน้มสินเชื่อในปี 63 คาดว่าจะหดตัวลง จากเดิมที่ธนาคารคาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อน เพราะความต้องการใช้สินเชื่อลดลง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่เห็นการฟื้นตัวชัดเจน และจากความระมัดระวังของธนาคารเองที่แผนงานหลักจะต้องป้องกันความเสี่ยงหนี้เสียที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น และการเดินหน้าช่วยเหลือลูกค้าอย่างเต็มที่ในภาวะวิกฤติ ทำให้ปีนี้ธนาคารจะไม่เน้นขยายสินเชื่อมากนัก
ปัจจุบัน พอร์ตสินเชื่อคงค้างของธนาคารอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อรถยนต์ 30% สินเชื่อบ้าน 22% สินเชื่อลูกค้าขนาดกลาง-ใหญ่ 37% สินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็ก 7% และสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต 5%
นอกจากนั้น ธนาคารยอมรับว่าภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 63 จะไม่สดใส จากแรงกดดันของแนวโน้มหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการตั้งสำรองฯเพิ่ม และการหดตัวของสินเชื่อ รวมทั้งมาตรการพักชำระหนี้ ทำให้รายได้ลดลงและรายได้ใหม่ไม่เข้ามา ทำให้ผลการดำเนินงานในปีนี้อาจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในด้านความมั่นคงและเสถียรภาพของธนาคารยังมีความแข็งแกร่ง มีฐานทุนแข็งแรงรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนได้อีก 2 ข้างหน้า (ปี 64-65) โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน
นายปิติ ยังกล่าวถึงการลงทุนในหุ้นกู้ บมจ.การบินไทย (THAI) มูลค่า 3.15 พันล้านบาทว่า ขณะนี้ธนาคารได้ตั้งสำรองฯในส่วนที่ธนาคารลงทุนไปแล้ว 50% และในส่วนที่เหลือยังคงต้องเจรจาข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้ของการบินไทยในชั้นศาลว่าจะได้ข้อสรุปออกมาเป็นอย่างไร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ส.ค. 63)
Tags: TMB, ธนาคารทหารไทย, ปิติ ตัณฑเกษม, หนี้เสีย, หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้