ครม.รับทราบแผนงานขับเคลื่อนพัฒนาทักษะทางการเงิน ปี 65

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565-2570 ประจำปี 2565 และโครงการตามแผนปฎิบัติการฯ ประจำปี 2566 ซึ่งเสนอโดยกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ประจำปี 2565 เป็นการดำเนินงานเพื่อวางรากฐาน และเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยมีกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างบูรณาการ ประกอบด้วย 3 เป้าหมาย 8 มาตรการ 19 แผนงาน ซึ่งมีแผนงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 7 แผนงาน แผนงานที่เป็นไปตามแผน 11 แผนงาน และแผนงานที่ไม่เป็นไปตามแผน 1 แผนงาน สรุปได้ดังนี้

– เป้าหมาย 1 คนไทยตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการเงินและเข้าถึงข้อมูลการเงิน 2 มาตรการ (มาตรการที่ 1 และ 2)

– เป้าหมาย 2 คนไทยมีความรู้และทักษะทางการเงินเพียงพอที่จะนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม 4 มาตรการ (มาตรการที่ 3-6)

– เป้าหมาย 3 ประเทศไทยมีกลไกขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนาทักษะทางการเงินอย่างบูรณาการและยั่งยืน 2 มาตรการ (มาตรการที่ 7 และ 8)

สำหรับรายละเอียดของแต่ละมาตรการ เป็นดังนี้

มาตรการที่ 1 : ยกระดับความสำคัญการพัฒนาทักษะทางการเงิน

แผนงาน 1 กำหนดให้มีการรณรงค์ระดับชาติเพื่อสร้างความตระหนักรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชน ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว โดยรัฐบาลได้กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน กระทรวงการคลัง รวมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ กันยายน 2565 – มกราคม 2566 มีผู้ลงทะเบียนขอแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ 188,739 ราย และมีผู้ขอรับบริการ 33,859 รายการ

แผนงาน 2 กำหนดให้การพัฒนาทักษะทางการเงินเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ โดยแผนงานนี้ยังดำเนินการไม่เป็นไปตามแผนเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจปี 2565 อยู่ระหว่างฟื้นตัวจากโควิด-19 จึงต้องเร่งแก้ไขหนี้ครัวเรือนก่อน

มาตรการที่ 2 : ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้ทางการเงินที่ถูกต้องและเชื่อถือได้และพัฒนาทักษะทางการเงินด้วยตนเองของประชาชน ซึ่งดำเนินการเสร็จแล้วทั้งสามแผนงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผลิตเนื้อหาในรูปแบบต่างๆที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานและสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

มาตรการที่ 3 : กำหนดกรอบสมรรถนะทางการเงินสำหรับคนไทย ดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานเพื่อพัฒนากรอบสมรรถนะทางการเงินสำหรับคนไทยแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

มาตรการที่ 4 : ผลักดันการพัฒนาทักษะทางการเงินในระบบการศึกษา ดำเนินการเป็นไปตามแผนต่างๆ ดังนี้ ผลักดันการพัฒนาทักษะทางการเงินในหลักสูตรการเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย แผนยกระดับความรู้และพัฒนาครูผู้สอน รวมทั้งแผนส่งเสริมการเรียนการสอนเรื่องการเงินส่วนบุคคลในระดับอุดมศึกษา

มาตรการที่ 5 : พัฒนาทักษะทางการเงินของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายตลอดช่วงชีวิต ได้ดำเนินโครงการให้ความรู้และพัฒนาทักษะทางการเงินรวมถึงการเงินดิจิทัล ภัยและการโกงการเงิน และการป้องกันการจัดการความเสี่ยงให้ประชาชนทุกกลุ่ม โดยจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายตามสภาพปัญหาและความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามแผน มีผู้เข้ารับการอบรมทักษะทางการเงินรวม 3.59 ล้านราย มีจำนวนการรับชมความรู้ทักษะทางการเงินผ่านระบบออนไลน์มากกว่า 43.62 ล้านครั้ง

มาตรการที่ 6 : พัฒนากฎระเบียบและมาตรการเพื่อสนับสนุน ดำเนินการเป็นไปตามแผนกำหนดให้องค์กรในภาคการเงินต้องจัดให้มีกิจกรรมพัฒนาทักษะทางการเงิน ดำเนินการเป็นไปตามแผนที่กำหนดให้การเข้ารับการอบรมและการผ่านแบบทดสอบการบริหารจัดการหนี้เพื่อการศึกษาเป็นเงื่อนไขของการได้รับอนุมัติวงเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) รวมทั้งดำเนินการเป็นไปตามแผนที่กำหนดให้บุคลากรภาครัฐบรรจุใหม่ได้รับการฝึกอบรมการเงินส่วนบุคคล

มาตรการที่ 7 : จัดตั้งกลไกขับเคลื่อนการดำเนินการพัฒนาทักษะ ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการการพัฒนาทักษะทางการเงินเพื่อขับเคลื่อนกำกับติดตามทางการเงินอย่างบูรณาการและยั่งยืนแล้วเสร็จ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 200/2565 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ

มาตรการที่ 8 : สร้างระบบการติดตามและประเมินผล ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงานกำหนดตัวชี้วัดระดับเป้าหมาย ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงานกำหนดตัวชี้วัดของแต่ละหน่วยงาน รวมทั้งการประเมินผล ดำเนินการเป็นไปตามแผนที่จัดให้มีการสำรวจระดับทักษะทางการเงินทุกๆ 2 ปี ดำเนินการเป็นไปตามแผนที่ผลักดันให้มีการบูรณาการระบบข้อมูลความรู้/ทักษะทางการเงิน ดำเนินการเป็นไปตามแผนที่จัดทำรายงานผลการดำเนินการ และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเป็นประจำทุกปี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มิ.ย. 66)

Tags: , , ,
Back to Top