ความอยู่รอดของสื่อออนไลน์ในเมียนมา กัมพูชา และลาว ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร งานสัมมนา “Survival of Online News Providers in the Changing World: ความอยู่รอดของผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป” ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะสามารถให้คำตอบกับคำถามดังกล่าว ซึ่งเริ่มต้นด้วยการพูดคุยในช่วงเช้าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “Development of content presentation and strategy from a new perspective to build the credibility and of the public: การพัฒนาเนื้อหาและกลยุทธ์ใหม่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือต่อสาธารณะ”
การพูดคุยในหัวข้อดังกล่าว มีคุณมิน ทอว์ ทุต (Min Thaw Htut) ผู้บริหาร อีเลฟเว่น มีเดีย กรุ๊ป ประเทศเมียนมา, คุณทอง โซวัน เรียงเซย์ (Thong Sovan Raingsey) ผู้จัดการทั่วไป เกาะสันเพียบ มีเดีย ประเทศกัมพูชา และคุณสมศักดิ์ ป้องขาว (Somsack Pongkhao) บรรณาธิการ เวียงจันทน์ ไทม์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในครั้งนี้ โดยมีคุณณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการ Thai PBS World รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ
สื่อเอกชนของเมียนมายังคงมุ่งมั่นรายงานข้อเท็จจริง ท่ามกลางข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ
คุณมิน ทอว์ ทุต ผู้บริหาร อีเลฟเว่น มีเดีย กรุ๊ป ประเทศเมียนมา กล่าวว่า สถานการณ์สื่อเมียนมาหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การยึดอำนาจของทหาร การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน วิกฤตทางเศรษฐกิจ การจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และข้อจำกัดด้านการโฆษณา ทำให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ทั้งจากการจำกัดการเข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์และโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากใช้ VPN ในการเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือแพลตฟอร์มที่ถูกจำกัดการใช้งาน
เมื่อกล่าวถึงสื่ออย่างหนังสือพิมพ์ในเมียนมานั้น ปัจจุบันเหลือหนังสือพิมพ์เอกชนเพียงแค่ 2 ฉบับ จาก 7 ฉบับในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยที่ก่อนหน้านั้น ในช่วงปี 2556 เมียนมามีหนังสือพิมพ์อยู่ถึง 13 ฉบับ อย่างไรก็ตามแม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองของเมียนมาจะทำให้เกิดข้อจำกัดมากมาย ทั้งในเรื่องของการรายงานข่าว การติดต่อแหล่งข่าว และข้อจำกัดทางการเงิน อีเลฟเว่น มีเดีย ในฐานะสื่อของประชาชน ยังคงยึดมั่นเรื่องการรักษาความไว้วางใจจากประชาชน โดยไม่รายงานข่าวที่เป็นเท็จ มุ่งมั่น และยึดถือความต้องการของประชาชนเป็นหลัก รวมถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ
“เกาะสันติเพียบ”ยึดกลยุทธ์กระจายเพจเฟซบุ๊กเพื่อเจาะกลุ่มผู้อ่านที่หลากหลาย
ด้านคุณทอง โซวัน เรียงเซย์ ผู้จัดการทั่วไป เกาะสันติเพียบ มีเดีย ประเทศกัมพูชา กล่าวถึง สื่ออย่างเกาะสันติเพียบ มีเดียว่า ปัจจุบันได้มีการพัฒนาในรูปแบบของเว็บไซต์ เพื่อรับมือกับความท้าทายในยุคสื่อดิจิทัล นอกจากนี้ยังได้มีการเรียนรู้การพัฒนาธุรกิจ และการลงทุนของบริษัทมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันได้โฟกัสประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องความบันเทิงอย่าง 1 ในเว็บไซต์ที่กำลังมาแรงอย่าง OUR FOOD PAGE เป็นเว็บไซต์ที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับอาหารรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันของเกาะสันติเพียบที่ใช้ชื่อว่า Koh App รวมไปถึงเพจเฟซบุ๊ก Koh Santepheap Daily ซึ่งเป็นช่องทางของสื่อที่ผู้อ่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศกัมพูชาและมีผู้ติดตามกว่า 6 ล้านคน โดยที่ไม่ได้โฆษณาเพจ เพราะต้องการฐานผู้อ่านที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของสื่อจริง ๆ เพื่อที่จะได้รู้ข้อมูลและรายละเอียดของกลุ่มผู้อ่านเพจ
นอกจากนี้ ทางเกาะสันติเพียบยังมีเพจ 60BUZZ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อนำเสนอคอนเทนต์สำหรับผู้ที่มีข้อจำกัดในด้านการอ่าน จึงมีการนำเสนอในรูปแบบของวิดีโอภายใต้คอนเซปต์ “ฟัง ดูใน 60 วินาที” และเนื้อหาส่วนใหญ่ในเพจก็ได้รับความนิยมอย่างมากในกัมพูชา และยังมีอีก 1 เพจที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับอาหารอย่าง FACE TASTE เพจที่นำเสนอเรื่องราวของสตรีทฟู้ด ร้านอาหาร อาหารท้องถิ่น รีวิวอาหาร ที่ผู้อ่านสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาหารได้จากเพจดังกล่าว
อย่างไรก็ตามในฐานะสื่อ ทางสันติเพียบได้เรียนรู้มากมายจากการทำสื่อที่หลากหลายทำให้บริษัทสามารถทราบถึงจุดแข็ง จุดอ่อนในมุมมองของธุรกิจ รวมไปถึงแนวทางในการช่วยเหลือสังคม และจากการเรียนรู้ดังกล่าวจึงได้มีการทำเพจ FIREBUZZ ซึ่งอัปเดตข้อมูลข่าวสาร, Home S-art เพจที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการออกแบบบ้าน และ AMAZING PEOPLE เพจที่นำเสนอเนื้อหาบุคคลที่มีความน่าสนใจให้กับผู้อ่านได้ติดตาม
บ.ก.เวียงจันทน์ ไทม์ส ชี้โซเชียลมีเดียฮ็อตสุดในลาว ย้ำสื่อยึดมั่นเรื่องการสร้างความน่าเชื่อถือ
ขณะที่ คุณสมศักดิ์ ป้องขาว บรรณาธิการ เวียงจันทน์ ไทม์ส ในฐานะสื่อหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับแรกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้กล่าวถึงเป้าหมายหลักของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสื่อว่า ปัจจัยหลักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบคอนเทนต์, การใช้โซเชียลมีเดีย, ผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีผลต่อการนำเสนอข่าว, ความท้าทายของสื่อในประเทศลาว และการเรียนรู้การเข้าถึงตลาด ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้สื่อมีการปรับตัวมากขึ้น ประเทศลาวมีประชากรทั้งหมด 7.5 ล้านคน กว่า 85% ประชากรส่วนใหญ่ใช้มือถือ โดย 62% ของจำนวนประชากรสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และ 50% ของประชากรในพื้นที่ใช้โซเชียลมีเดีย
บ.ก.ของเวียงจันทน์ ไทม์ส กล่าวว่า สื่อออฟไลน์ไม่เป็นที่นิยมเท่าไรนักในลาว ชาวลาวส่วนใหญ่ ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย คิดเป็นสัดส่วน 88% และเป็นกลุ่มผู้ใช้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แพลตฟอร์มที่ใช้ส่วนใหญ่คือเฟซบุ๊กที่มีสัดส่วนมากถึง 80% เฟซบุ๊กเป็นสื่อที่ประชากรส่วนใหญ่ใช้เพื่อการติดต่อสื่อสาร ติดตามข้อมูล รองลงมาคืออินสตาแกรม ซึ่งมีจำนวน 488,000 บัญชี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6.4% ถัดมาเป็นแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ ซึ่งมีผู้ใช้จำนวน 238,000 บัญชี คิดเป็น 3.1% สุดท้าย คือ ลิงก์อิน ซึ่งมีจำนวน 140,000 บัญชี คิดเป็นสัดส่วน 1.8%
สถานการณ์โควิด-19 ทำให้การรายงานข่าวเปลี่ยนไป สื่อต่างๆ ปรับตัวมาผลิตข้อมูลแบบออนไลน์และเป็นรูปแบบวิดีโอเพื่อเข้าถึงผู้ชมมากขึ้น ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ปิดตัวลงและหันไปนำเสนอผ่านรูปแบบออนไลน์ เช่น วิดีโอ เฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ อย่างไรก็ตามการจัดทำเนื้อหานั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ กลยุทธ์ในการสร้างความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน รวมทั้งการสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากสำหรับการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสื่อและแนวทางการสร้างรายได้จากสื่อออนไลน์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 66)
Tags: SCOOP, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, สื่อออนไลน์